ทุกวันนี้เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเทรนด์ที่ใคร ๆ ก็ให้ความสำคัญ ด้วยผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้แต่การออกแบบอาคารเองก็ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น จระเข้จะพาทุกคนไปรู้จักกัน Environmental Design กันให้มากขึ้นว่าจะต้องคำนึงถึงด้านใดบ้าง โดยมี ดร. สริน พินิจ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นผู้ให้ความรู้ดี ๆ ในวันนี้กัน
Environmental Design คืออะไร สำคัญต่องานออกแบบยุคนี้อย่างไร?
“Environmental Design เป็นการออกแบบที่คำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ในที่นี้จะรวมถึง Surrounding ที่เป็นด้านกายภาพ และรวมถึงด้านสังคมและเศรษฐกิจ”
Environmental Design ถือว่าสำคัญต่องานออกแบบ เพราะจริง ๆ อย่างที่เราเห็นสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีทั้งการ Disruption การเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ทำให้การออกแบบโดยคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ จะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้มาก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อไปในอนาคต
ภาพ: มาตรฐาน LEED
ในไทยเองให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมมาระยะหนึ่ง สิ่งที่เห็นและจับต้องได้ก็จะเป็นเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือเกณฑ์อาคารเขียว สำหรับเกณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากตอนนี้ก็คือ USGBC (U.S. Green Building Council) มีชื่อว่าเกณฑ์ LEED อาคารใหญ่หลายอาคารเริ่มสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะเราจะเห็นได้ว่าอาคารใหญ่หลายตึกเริ่มออกแบบตามเกณฑ์สิ่งแวดล้อม
Environmental Design มีองค์ประกอบใดที่น่าสนใจบ้าง?
“แบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ ตำแหน่งที่ตั้ง การรักษาพื้นที่สีเขียว ลดการใช้น้ำ ใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และคุณภาพชีวิตภายในอาคาร”
จะแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ทั้งในเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่โครงการ ว่าไปอยู่ในที่ที่ทำลายป่าหรือไม่ โดยเกณฑ์จะสนับสนุนให้อาคารตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง ไม่ไปกระทบหรือรุกรานป่า ในชุมชนเมืองก็จะมีเรื่อง Mass Transit มุ่งเน้นในเรื่องลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
“ถ้ามองลึกลงไปก็มีการสนับสนุนให้รักษาพื้นที่สีเขียวไว้”
เท่านั้นยังไม่พอ ถ้ามองลึกลงไปในเกณฑ์ก็จะมีเรื่องการสนับสนุนให้รักษาพื้นที่สีเขียวเดิมไว้ เช่น ถ้าบนไซต์นั้นมีพื้นที่สีเขียวเดิม ก็จะมีข้อกำหนดว่าไม่ให้เราไปรุกรานหรือว่าทำลาย และจะต้องสร้างพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สวนให้เยอะมากขึ้น
โดยพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ก็จะมีนิยามอีกว่า ต้องเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ คือไม่ใช่แค่สนามหญ้าโล่ง ๆ ที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดอาศัยอยู่ได้เลย แต่จะต้องประกอบไปด้วยพืชพันธุ์หลายชนิด คำนึงไปถึงเรื่องการลดการใช้น้ำและใช้ไฟ ลดใช้พลังงาน และยังคำนึงถึงเรื่องการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือเป็นวัสดุที่มีสารพิษต่ำ ไม่ทำลายป่า ไม่ปล่อยคาร์บอนเยอะ มีกระบวนการผลิตที่ดี
“พื้นที่สีเขียวต้องเป็นมากกว่าสนามหญ้า ต้องมีพืชพันธุ์หลายชนิด และมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์”
และในเรื่องสุดท้ายก็จะเป็นคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ในอาคารดีด้วยหรือไม่ หรือที่เรียกว่า Indoor Enviromental Quality สภาพแวดล้อมภายในอาคารที่มีคุณภาพ ซึ่งจะมีปัจจัยทั้งในเรื่องอากาศที่ดี น้ำดื่มที่มีคุณภาพ การมีร้านขายผักผลไม้ หรือแม้แต่พื้นที่ออกกำลังกายที่เปิดให้ใช้ฟรีด้วย นอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นเรื่องนโยบายการบริหารจัดการอาคาร เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในอาคารมี Well-being ที่ดี
เทรนด์การสร้าง Environmental Design ในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง?
“Demand จากต่างประเทศชัดเจนมาก”
ความต้องการจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในไทยเองอาจจะไม่ได้มีความต้องการชัดเจนขนาดนั้น แต่ Demand ที่มาจากต่างประเทศนั้นสูงขึ้นอย่างชัดเจน แล้วจุดนี้แหละ ก็จะทำให้โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการต้องออกแบบอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
เช่น ถ้ามีต่างชาติต้องการเช่าอาคารสำนักงาน ก็จะมีเกณฑ์ชัดเจนมาเลยว่าจะต้องเช่าในอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นว่าถ้าอาคารไหนไม่ทำด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นการจำกัดตลาดของตัวเองมาก ๆ ซึ่งจะเป็นในแง่การแข่งขันว่า ใครมี Performance อาคารที่ดีกว่ากัน
แล้วสำหรับอาคารเก่าจะปรับปรุงตามหลัก Environmental Design ได้อย่างไร?
“โฟกัสด้านการจัดการแทน ว่าถ้าตึกมีจุดที่ทำได้ไม่ถึงเท่าที่เกณฑ์กำหนด ก็จะมองว่าต้องเปลี่ยนบางส่วน”
สำหรับเกณฑ์ตรงนี้จะมีเกณฑ์ที่ครอบคลุมทุกประเภทอาคาร คือมีเกณฑ์สำหรับ Existing Building หรืออาคารเดิม ก็จะรวมอยู่ในการประเมินด้วย แต่จะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกัน อาจจะไม่ได้บังคับว่าจะต้องเปลี่ยนวัสดุอาคารใหม่ หรือต้องทำ Major Renovation
แต่จะให้โฟกัสด้านการจัดการแทน ว่าถ้าตึกมีจุดที่ทำได้ไม่ถึงเท่าที่เกณฑ์กำหนด ก็จะมองว่าต้องเปลี่ยนบางส่วน เช่น งานระบบ แต่หลัก ๆ จะมองในแง่การบริหารจัดการ มีการเปิด-ปิดอย่างไร บำรุงรักษาอย่างไร เป็นการยกระดับอาคารเดิมได้
เทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริม Environmental Design ที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง?
ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีใหม่มาเรื่อย ๆ ทั้งในเรื่องของการเพิ่มคุณภาพอากาศภายในอาคาร และอีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจก็จะเป็นหลอด UVGA ก็คือการใช้หลอดไฟ UV ที่ฆ่าเชื้อโรคได้เข้ามาในระบบปรับอากาศ ก็จะทำให้อากาศบริสุทธิ์มากขึ้น ฆ่าเชื้อโรคหรือโรคติดต่อทางอากาศ เช่น โควิด-19 ภายในอาคารได้
ดร. สริน พินิจ
ภาพจาก: https://www.arch.chula.ac.th/archdb/index.php?view=info&idInstr=119&idDep=2
- อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนใจความรู้ด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม อ่านกันต่อได้เลยที่