ทุกวันนี้อะไร ๆ ก็ต้องมีคำว่า Green ต้องมีคำว่ายั่งยืน แม้แต่บ้านเองก็ยังมี Green Residence ให้ได้ยินกัน ซึ่งก็เป็นการสร้างที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกเดือดที่เริ่มรุนแรงขึ้นทุกวัน วันนี้มาพูดคุยเรื่อง Green Residence กับคุณอมรรัตน์ เดชอุดมทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว สถาบันอาคารเขียวไทย ว่าจะมีความรู้อะไรที่น่าสนใจ และเทคโนโลยีใดที่น่าจับตามองบ้าง
Green Residence คืออะไร?
ภาพ: การออกแบบแบบ Green Residence
“Green Residence คือ ที่อยู่อาศัยที่อยู่แล้วสุขสบาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
เราน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า Residence กันอยู่แล้วก็คือที่อยู่อาศัย อาจจะเป็นบ้าน คอนโด หรืออาคารลักษณะไหนก็ตามที่เราเข้าไปใช้ชีวิต มีความผูกพันในทุกช่วงชีวิตอยู่ในนั้น คนไทยจะคุ้นเคยกับคำว่า "บ้าน" เพราะฉะนั้นจึงมีปัจจัยหลาย ๆ ด้าน ที่ทำให้เรามีความสุข ความสบาย และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งทางกายและใจ
ส่วนอีกคำหนึ่งคือคำว่า Green ที่ง่ายต่อการจดจำ แต่จริง ๆ คำนี้มาจากคำว่า Sustainability หรือความยั่งยืน ในปัจจุบันก็มีหลาย ๆ คำที่เป็นตัวแทนของความยั่งยืน ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำว่า Green จึงสื่อความหมายไปในทิศทางเดียวกัน
ภาพ: Green Residence ที่มีพลังงานหมุนเวียน
Green Residence จึงมีความหมายที่เข้าใจง่าย ๆ ว่า ที่อยู่อาศัยที่ให้ความสุขความสบาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรต่อผู้คนรอบข้าง รวมไปจนถึงลดผลกระทบทางด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะ Green House Effect หรือภาวะโลกร้อน Climate Change ต่าง ๆ
โดยองค์ประกอบภาพรวมของงานก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นตัวการใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ ของการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงาน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะในระหว่างทางของการออกแบบ ก่อสร้าง และเปิดใช้งานอาคาร มันผลิตผลกระทบจนเกิดเป็นปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอากาศเสีย ของเสีย รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองเกินและไม่มีสิทธิภาพ
“ภาพรวมของงานก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นตัวการใหญ่ ๆ ของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
ที่อยู่อาศัยถึงแม้จะดูใกล้ตัว และดูเป็นสเกลที่เล็กเมื่อเทียบกับอาคารอื่น ๆ แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์เราใช้ชีวิตหรืออาศัยอยู่ในบ้านอย่างใกล้ชิด และทำให้เกิด Energy consumption หรือการใช้พลังงานค่อนข้างสูง นอกจากนี้การสร้างที่อยู่อาศัยก็ใช้ทรัพยากรค่อนข้างสูง ที่อยู่อาศัยจึงเป็นตัวการที่สร้างผลกระทบค่อนข้างมาก จึงเกิดเป็นแนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้บ้านของเรายั่งยืนมากขึ้น
ภาพ: โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดการพูดคุยตั้งแต่การเลือกที่ตั้งอาคาร การเลือกรูปแบบ การวางทิศทาง ที่จะช่วยลดการพึ่งพาทรัพยากรต่าง ๆ และประหยัดพลังงาน หรือจะเลือกออกแบบอย่างไรให้เอื้อต่อการใช้ธรรมชาติล้อมด้าน ณ ที่ตั้งนั้น ๆ เพื่อจะลดการใช้พลังงาน
“ปัจจุบันจึงมีแนวคิดถึงองค์ประกอบโดยรวมที่สร้างเสริมความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาพสุขภาวะของผู้อยู่อาศัย”
ที่อยู่อาศัยแบบไหนถึงเรียกได้ว่าเป็น Green Residence
ภาพ: การออกแบบบ้าน
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลก ทำให้ทฤษฎีการออกแบบอาคารเขียวต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ไม่เพียงแค่ลดผลกระทบอย่างเดียว แต่จะต้องทำอะไรบ้างอย่างที่ทำให้เกิด Positive Impact (ผลกทระทบในเชิงบวก) หรือแก้ปัญหาของเดิม ไม่ใช่แค่มี Checklist อย่างเดียวแล้ว
จะต้องทดสอบว่าอาคารจะไม่ส่งผลกระทบจริง ๆ รวมถึงทำนายไปถึงอนาคตด้วยว่าใน Life Cycle จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้างใน 5-10 ปี และจะต้องมองให้ครบรอบด้านหรือที่เรียกว่า Integrated Design มากขึ้น
ปัจจุบันจะมี Guideline (แนวทาง) ต่าง ๆ ที่ผ่านการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ที่อยู่อาศัยที่ได้รับมาตรฐานต่าง ๆ เช่น มาตรฐานอาคารเขียวอยู่หลากหลายองค์กร ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกที่ชัดเจนและเห็นได้ชัดที่สุดว่า ถ้าปฏิบัติตามที่มาตรฐานกำหนด ก็จะเรียกได้ว่าเป็น Green Residence
วัสดุก่อสร้างแบบไหนเหมาะกับการก่อสร้าง Green Residence
ภาพ: การออกแบบโดยคำนึงถึงธรรมชาติ
“ต้องดูทั้งที่ตั้งอาคาร และวางผังให้เข้ากับธรรมชาติ”
รื่องของวัสดุก่อสร้างก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง โดย Green Residence จะมีองค์ประกอบที่ต้องให้ความสำคัญอยู่ ได้แก่ องค์ประกอบแรกคือ การเลือกที่ตั้งอาคาร จะต้องเลือกพื้นที่ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แหล่งน้ำ ควรเลือกพื้นที่ในเมือง พื้นที่ที่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่ที่มีควาสมบูรณ์ทางธรรมชาติ
ต่อมาคือ การวางผังอาคาร ควรจะออกแบบให้เข้ากับทิศทางแดด ทิศทางลม ตามตำแหน่งที่ตั้ง เพื่อไม่ให้ฝืนธรรมชาติ และใช้สิ่งที่ธรรมชาติมีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องดูตั้งแต่รูปแบบอาคาร ช่องเปิดรับลมให้เหมาะสม จะช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคาร และใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องของฝนก็เหมือนกัน ควรจะมีระบบกักเก็บน้ำฝน เพื่อลดการใช้พลังงาน
ภาพ: บ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนเรื่องของวัสดุก่อสร้างจะแบ่งออกได้เป็น 2 เรื่องหลัก ๆ คือ For Environment และ For Well-being
For Environment ก็คือเลือกใช้วัสดุที่ช่วยในการประหยัดพลังงาน ช่วยลดการถ่ายเทความร้อน ในบ้านเราส่วนใหญ่ก็จะเลือกใช้วัสดุที่มีความคุ้นเคย และพิสูจน์แล้วว่าวัสดุหลาย ๆ อย่างมีประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนได้ดีทีเดียว ซึ่งจะช่วยลดความร้อนในอาคาร ทำให้อยู่สบายมากยิ่งขึ้น
อีกส่วนก็คือ For Well-Being ซึ่งเป็นส่วนที่จับต้องได้ยาก คือ สุขภาพกาย สุขภาพใจ การเลือกใช้วัสดุและการออกแบบต่าง ๆ ที่มีผลต่อการอยู่อากาศ ในเรื่องของ For Well-Being เรามักจะพูดถึงเรื่องแสงธรรมชาติ อากาศที่ดี รวมจนถึงการมี Ventilation Rate หรือระบบระบายอากาศที่ดี ลึกไปมากกว่านั้นก็คือ เรื่องสารพิษสารระเหยอยู่ในอากาศมากน้อยขนาดไหน ซึ่งก็มาจากวัสดุที่เราเลือกใช้นั่นเอง
ในปัจจุบันก็ต้องบอกว่า เราอาจจะยังไม่ได้โฟกัสตรงจุดนี้มากนัก เพราะเราอาจจะเน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ในเรื่องของสุขภาวะก็จะมีเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้แล้ว โดยจะระบุเกณฑ์ขั้นต่ำ ว่าควรจะมีระดับอยู่ที่เท่าไร เพราะการที่เราจะมีอากาศภายในอาคารที่ดี ก็ต้องเริ่มจากระบบระบายอากาศ ระบบกรองอากาศผ่านตามมาตรฐาน และการใช้วัสดุเคมีภัณฑ์ที่สารระเหยต่ำ หรือไม่มีเลย รวมไปจนถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
เทคโนโลยีที่ช่วยสร้าง Green Residence ที่น่าจับตามองในอนาคต
ภาพ: บล็อกคอนกรีตเถ้าลอย
“ปัจจุบันเทคโนโลยีเกี่ยวกับ Green Residence ก็มีหลายงานที่น่าสนใจ โดยเฉพาะงานที่พัฒนาขึ้นเพื่อลดเรื่อง Carbon Footprint หรือแม้กระทั่งว่าลดการปลดปล่อยคาร์บอน”
เริ่มตั้งแต่เรื่องการออกแบบ ซึ่งควรจะเลือกวัสดุก่อสร้างยุคใหม่ที่จะลดการปลดปล่อยคาร์บอนในตัววัสดุ ทั้งวัสดุทดแทนคอนกรีต วัสดุทดแทนเหล็ก และใช้วัสดุธรรมชาติเป็นองค์ประกอบมากขึ้น เช่น คอนกรีตที่มีส่วนประกอบของ Fly-ash (เถ้าลอย) ต่าง ๆ มาทดแทนส่วนประกอบหลัก การใช้ขยะรีไซเคิลเป็นตัวทดแทนในเนื้อคอนกรีต
นอกจากเรื่องของการเลือกวัสดุแล้ว ก็ยังมีเรื่องของการออกแบบที่จะลดการใช้วัสดุก่อสร้างให้น้อยลง เช่น การวิจัยเรื่องอาคารที่สร้างจากไม้โตเร็ว ผลิตภัณฑ์ไม้ประกอบต่าง ๆ ที่ใช้ไม้รีไซเคิล ทำเป็นโครงสร้างและวัสดุชนิดใหม่ เพื่อลดการใช้พลังงานในสายการผลิต
ภาพ: การก่อสร้างด้วยระบบ 3D Printing
“3D Printing และ Robotic ก็เป็นอีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจ”
อีกอย่างหนึ่งที่น่าจับตามองก็คือ การใช้ 3D Printing และ Robtotic ต่าง ๆ เพื่อให้กระบวนการในการก่อสร้างง่าย รวดเร็ว ลดขั้นตอนลง และยังมีการ Integrate (ผสมผสาน) วัสดุอื่น ๆ เข้าไปในกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงภาคการผลิตมากขึ้น
สำหรับในระยะยาวก็มีแนวคิดที่ว่า ที่อยู่อาศัยจะพึ่งพาตัวเองได้ (Autonomous) โดยส่งผลกระทบน้อยที่สุด เช่น ผลิตพลังงาน เก็บน้ำไว้ใช้ในอาคารหมุนเวียนได้อย่างเพียงพอ ก็คือเรียกได้ว่าเราจะนำอาคารที่อยู่อาศัยหลังนี้ไปไว้ที่ไหนในประเทศไทยก็ได้
อาจจะมีการติดระบบพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่ผลิตพลังงานได้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ ไปจนถึงระบบกักเก็บน้ำฝน รวมไปถึงวิธีก่อสร้างที่ง่ายรวดเร็ว และไม่มีสารพิษ เพื่อให้อาคารหลังนี้อยู่ได้โดยตนเอง
คุณอมรรัตน์ เดชอุดมทรัพย์
ผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว สถาบันอาคารเขียวไทย LEED AP (BD+C, O+M), TREES-A, EDGE Expert, DGNB International Consultant
สนใจความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างในด้านอื่น ๆ ไปอ่านกันต่อได้เลยที่