ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมและพื้นที่ใช้สอย "ความน่าสบาย" ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่เพียงแต่สร้างบรรยากาศที่น่าอยู่เท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้อาศัย การสร้างสภาพแวดล้อมที่สบายต้องอาศัยการผสมผสานองค์ประกอบต่าง ๆ วันนี้จระเข้จะพาทุกคนไปเรียนรู้เรื่องความน่าสบายกับการออกแบบกับ รศ.ดร.ชนิกานต์ ยิ้มประยูร หัวหน้าภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมจะมาให้ความรู้กับเราในวันนี้แล้ว
สภาวะน่าสบายทางการออกแบบคืออะไร? สำคัญอย่างไร?
“ความน่าสบายมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ แสง สภาพอากาศ”
เมื่อพูดถึงเรื่องความน่าสบาย จะมีความน่าสบายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ แสง คุณภาพอากาศ สำหรับที่เราจะพูดถึงกันวันนี้ก็จะเป็นเรื่องอุณหภูมิ ก็จะมีมาตรฐานกำหนดอยู่ แต่เป็นเรื่องของความรู้สึก เมื่ออยู่ในที่หนึ่งแล้วเราไม่รู้สึกว่าร้อนหรือหนาวเกินไปก็จะเป็นนิยามของด้านนี้
“ความรู้สึกร้อนหนาวของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้า 80% ของคนที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่ ว่าไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไปก็จะถือว่าเป็นสภาวะน่าสบาย ยิ่งถ้าเป็น 90% ได้ก็จะยิ่งดีขึ้นไป”
“ความน่าสบายขึ้นอยู่กับพื้นที่ และกิจกรรมที่ทำ”
ตามมาตรฐานแล้วจะมีองค์ประกอบที่ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และกิจกรรมที่เกิดขึ้น หากเป็นพื้นที่ภายนอกก็จะขึ้นอยู่กับความรู้สึกของบุคคลที่อยู่ตรงนั้น เช่น ความรู้สึกสบายในช่วงหน้าร้อนอาจต่างกับหน้าหนาว หากเป็นเรื่องแสงก็จะขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ ซึ่งต้องการความสว่างแตกต่างกันออกไป เช่น เมื่ออยู่ในห้องแล้วมีแสงสว่างที่มุมใดมุมหนึ่งมากเกินไปหรือไม่
“ความสบายภาพรวมภายในอาคารจะเรียกว่า คุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร จะมีทั้งเรื่องอุณหภูมิ แสง เสียง และอากาศ”
สภาวะน่าสบายประกอบด้วยอะไรบ้าง?
“กิจกรรมที่ทำ เสื้อผ้า อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม และอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม”
จากงานวิจัยพบว่าการที่เรารู้สึกสบายเกิดจากผลรวมขององค์ประกอบทั้งหมด 6 ส่วน โดย 2 ส่วนแรกเริ่มต้นจากตัวเราเอง ว่าเรากำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่ เสื้อผ้าที่เราสวมใส่นั้นเป็นแบบไหน ต่อมาก็จะเป็นเรื่องสถาปัตยกรรม ก็จะมีเรื่องของอุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม และอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม (อุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโดยรอบ หรือ MRT)
ถ้าวัดจากเครื่องปรับอากาศ ภาวะความน่าสบายของเราจะอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส เราอาจจะเคยได้ยินมาว่า ถ้าอยากประหยัดไฟควรปรับอุณหภูมิที่ 27 องศาเซลเซียส แต่ถ้าปรับเท่านี้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็อาจจะไม่พอดีกับความน่าสบายได้
ส่วนความชื้นควรจะอยู่ที่ประมาณ 50% หรืออาจจะอยู่ที่ 40 - 60% ไม่เกินจากนี้ โดยเรื่องความชื้นยังเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ เคยมีการรวบรวมข้อมูล พบว่าเชื้อโรคจะเติบโตได้ดีทั้งในที่ความชื้นน้อยเกินไปและมากเกินไป
อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ เรื่องอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวรอบตัวเรา หรือ Mean Radiant Temperature (MRT) ปกติถ้าเรานำมือไปแตะพื้นที่รอบ ๆ อย่าง ผนัง พื้น ฝ้า เพดาน แล้วอุณหภูมิควรจะเท่ากันกับอุณหภูมิอากาศ ซึ่งก็จะมีวิธีควบคุมให้อุณหภูมิอยู่ในระดับที่เหมาะสม
การออกแบบอาคารให้มีสภาวะน่าสบาย ต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยใดบ้าง?
“ห้องที่ออกแบบใช้ทำกิจกรรมอะไร และเสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นแบบไหน”
จริง ๆ ก็จะเป็นปัจจัย 4 ส่วนที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ โดยส่วนแรกก็จะต้องดูก่อนว่า ห้องที่จะออกแบบนั้นสร้างขึ้นสำหรับกิจกรรมอะไร เช่น ห้องน้ำ ห้องทำงาน ห้องครัว ห้องนอน ความสบายของแต่ละห้องก็จะต่างกัน เพราะสมมุติว่าถ้าเราต้องทำกิจกรรมที่ต้องขยับตัวมาก ๆ ก็จะเกิดความร้อนเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้การใส่เสื้อผ้าก็เหมือนกัน อยู่บ้านเราอาจจะใส่เสื้อผ้าบาง ๆ แต่เมื่อไปทำงานก็อาจใส่เสื้อผ้าหนาขึ้น เสื้อผ้าจึงส่งผลต่อปัจจัยทั้ง 4 อย่างในการออกแบบ ซึ่งควรจะให้ความสำคัญทั้ง 4 ส่วน คือ จะทำอย่างไรไม่ให้ความร้อนเข้าอาคาร เพื่อไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้น ออกแบบอย่างไรให้อาคารไม่มีความชื้นสะสม
ถัดไปก็จะเป็นเรื่องของความเร็วลม ถ้าเป็นการทำงานก็อาจจะต้องใช้เครื่องปรับอากาศ แต่ถ้าเป็นการนั่งเล่นดูทีวีในบ้าน ก็อาจใช้ลมธรรมชาติได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นพื้นที่ปรับอากาศในบ้านอย่างห้องนอน ห้องทำงาน ก็จะปรับอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 50% ความเร็วลม 0.1 เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานของเครื่องปรับอากาศ ถ้าเป็นฟิตเนสหรือห้องครัวที่มีกิจกรรมที่ผลิตความร้อนขึ้นมาอีก 3 เท่า อุณหภูมิแทนที่จะเป็น 25 ก็อาจจะต้องอยู่ที่ 22-23 องศา ให้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และกิจกรรมที่ทำ MRT คือ ออกแบบอาคารให้ผนังหรือหลังคาไม่รับความร้อนมากเกินไป
ตัวอย่างง่าย ๆ เวลาไปดูบ้าน ควรจะเลือกบ้านหลังที่หน้าบ้านหันไปทางทิศเหนือ เพราะความร้อนจะเข้าน้อยกว่า ก็จะใช้พื้นที่หน้าบ้านได้เยอะ แต่ก็อาจจะไม่เหมาะกับคนที่ชอบปลูกต้นไม้ เพราะจะมีร่มเงาอยู่เยอะ
อาคารที่มีสภาวะน่าสบาย จะต้องมีองค์ประกอบอะไรในอาคารบ้าง?
“เริ่มตั้งแต่ Landscape ภายนอก ไปสู่ภายในตึก”
ถ้าเป็นเรื่องอุณหภูมิเราก็จะป้องกันอุณหภูมิเข้าอาคาร เริ่มจากข้างนอกบ้านเลยว่า ทำอย่างไรให้ภายนอกบ้านมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ตั้งแต่การออกแบบ Landscape (ภูมิทัศน์) เลย เช่น ปลูกต้นไม้แบบมีแบบแผน
โดยปลูกต้นไม้สูงเพื่อให้บังตึก ส่วนด้านล่างเป็นลำต้นทำให้มีลมเข้าได้ บางคนก็อาจจะใช้น้ำช่วยมีการขุดบ่อน้ำ แต่ถ้าอยากขุดบ่อน้ำให้อยู่ในภาวะน่าสบาย อาจจะต้องมีความลึกช่วยประมาณ 1.2-1.5 เมตร เพราะถ้าตื้นเกินไปเป็นบ่อน้ำหรือสระน้ำลึก 50 ซม. ก็จะอมความร้อนสะท้อนเข้าตึกได้
พอเข้ามาที่เปลือกอาคารก็ควรจะป้องกันความร้อนได้ดี ผนังอาจเป็นวัสดุที่กันความร้อน แต่ถ้าป้องกันมากไปก็ไม่ดี ควรจะพูดคุยกับผู้ออกแบบให้เลือกวัสดุที่กันความร้อนไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป เช่น ผนังอิฐมวลเบา Eco Block หรือวัสดุใดก็ได้ที่กันความร้อนได้มากกว่าผนังทั่วไป แต่อาจจะไม่ต้องถึงขั้นใส่ฉนวน
“ทำผนังหนาเกินไปก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน”
เพราะถ้าทำผนังกันความร้อนมากเกิน อาคารจะอมความร้อนไว้ตลอดเวลา เช่น ออฟฟิศที่ทำผนังหนาเกินไป ทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้นในช่วงเช้า สรุปง่าย ๆ คือยิ่งถ้าก่อสร้างผนังหนา ก็จะยิ่งไม่คุ้มค่าการลงทุน ใช้เป็นอิฐมวลเบาหรือวัสดุที่ใกล้เคียงกันก็เพียงพอแล้ว
“ใช้กระจกรับแสงน้อย ทาตึกสีอ่อน และมีช่องรับลมธรรมชาติ”
สำหรับการเลือกใช้กระจก ก็อาจจะต้องดูที่ค่าการรับแสงเข้าว่าอย่าให้เกิน 50% และเรื่องสีก็ควรเลือกใช้สีโทนอ่อน เมื่อเข้ามาในตึกก็อาจเป็นเรื่องของการใช้ลมธรรมชาติ เพราะถ้าไฟดับเราควรจะต้องเปิดหน้าต่างได้ สำหรับบ้านอาจจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นอาคารสูงก็อาจจะไม่มีช่องเปิด หากเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็อาจจะส่งผลเสียได้
ส่วนเรื่องความชื้นในด้านงานระบบควรเปิดให้ซ่อมแซมได้หมด ส่วนอุณหภูมิพื้นผิว (MRT) ก็จะต้องดูว่าแสงอาทิตย์ส่องมาทางไหน ควรมี Shading (การให้ร่มเงา) บัง ไม่ให้ร้อนจนเกินไป หรือการใส่ฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาเมทัลชีท เพื่อลดความร้อนเข้าอาคาร
เทคโนโลยีอะไรบ้างที่ช่วยเสริมสร้างสภาวะน่าสบายในอนาคต?
“VRF, Radiant Cooling และ Chilled Beam”
ในส่วนของการปรับอากาศจะต้องคิดถึงเรื่องการประหยัดพลังงาน ถ้าเป็นฉลากเบอร์ 5 ก็จะมีเปลี่ยนฉลากใหม่เป็นดาวอย่างเดียว ฉลากเบอร์ 5 เดิมจะมีแค่เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนอย่างเดียว ของใหม่ก็จะมี VRF (Variable Refrigerant Flow: ระบบปรับอากาศที่สามารถควบคุมการไหลของสารทำความเย็น) เป็นอีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจ
นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่นอย่าง Radiant Cooling ซึ่งเป็นระบบทำความเย็นภายในพื้นและผนังโดยใช้ท่อน้ำเย็นเช่นเดียวกับระบบภายในเครื่องปรับอากาศ ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเย็นลงได้โดยไม่ต้องมีลมเย็นมาโดนตัว ก็ทำให้ใช้เครื่องปรับอากาศลดลง
อีกเรื่องจะเป็นเรื่อง Chilled Beam เป็นระบบทำความเย็นเช่นเดียวกับ Radiant Cooling แต่จะอยู่ที่ด้านบน ซึ่งจะปล่อยอากาศที่ผ่านคานน้ำเย็นโดยไม่ต้องใช้พัดลม ทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น
ถึงจะเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจแต่ก็ต้องระวังเรื่องการออกแบบ เพราะหากออกแบบไม่ถูกต้องอาจจะเกิดการควบแน่น (condensation) เป็นน้ำในพื้นที่ได้ แต่ก็มีหลากหลายสถานที่ที่ใช้แล้วประสบความสำเร็จ เช่น อาคาร ท-103 การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นต้น
นอกจากนี้ที่ประเทศสิงคโปร์ก็ยังมีเรื่องการออกแบบที่อิงจากกิจกรรมในห้องนั้น ๆ เช่น ห้องทำงานที่ต้องการใช้เครื่องปรับอากาศ ห้องอ่านหนังสือที่ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ ก็อาจจะออกแบบให้อยู่ข้างกันในมุมที่เหมาะสม และใช้พัดลมเพดานหรือ Radiant Floor Cooling หรือเพิ่มช่องปรับอากาศให้แอร์ออกมาได้
สนใจเรื่องความรู้ดีเรื่อง ๆ การออกแบบและก่อสร้าง ติดตามต่อได้ที่…
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหว กับ รศ. เอนก ศิริพานิชกร
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสะพานคอนกรีตอัดแรงกับ รศ. เอนก ศิริพานิชกร
การสร้างอาคารสำนักงานตามหลักอาคารเขียวและค่ากรีนพรีเมี่ยมกับ คุณอมรรัตน์ เดชอุดมทรัพย์
รศ.ดร.ชนิกานต์ ยิ้มประยูร
ภาพจาก https://bid.arch.ku.ac.th/bit/chanikarn-yimprayoon/
- หัวหน้าภาควิชานวัตกรรมอาคาร รองศาสตราจารย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สมาชิกตลอดชีพ สมาคมสถาปนิกสยาม
- สมาชิกสามัญ สภาสถาปนิก
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ประเภทภาคีสถาปนิก
- Leadership in Energy and Environmental Design Accredited Professional (LEED AP BD+C) TREES-A3.
- WELL AP
- EDGE Expert
- BEC Auditor