สะพานข้ามแยกขนาดใหญ่ สะพานข้ามแม่น้ำ เป็นสิ่งก่อสร้างที่ทุกคนเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่รู้หรือไม่ว่าเบื้องหลังเส้นทางที่ช่วยให้เราเดินทางได้สะดวกขึ้นนี้ ใช้เทคโนโลยีแบบไหนในการก่อสร้าง และทำอย่างไรให้แข็งแรง ปลอดภัย
วันนี้จระเข้จะพาทุกคนไปพูดคุยกับ รศ. เอนก ศิริพานิชกร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม สภาวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง ที่จะมาให้คำตอบด้านการก่อสร้างกับเรากัน
สะพานคอนกรีตอัดแรงคืออะไร? มีกี่แบบ แบบไหนที่นิยมใช้ในประเทศไทย
“สะพานที่แบ่งชิ้นส่วนคอนกรีตอัดแรงเป็นชิ้น ๆ แล้วมาประกอบกันที่หน้างาน”
เทคโนโลยีเรื่องคอนกรีตอัดแรงได้ดําเนินการมาแล้ว แต่ว่าตัวหลักจริง ๆ ในสมัยก่อน จะเป็นสะพานที่ทําด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เพราะมีความยาวช่วงประมาณ 10 เมตร พวกสะพานข้ามคลอง สะพานข้ามแม่น้ำ ก็จะใช้วิธีการทําการก่อสร้างในลักษณะที่เรียกว่าเป็นสะพานระบบพื้น (Slab Type Bridge) ซึ่งสะพานระบบพื้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นการสะพานที่ทําด้วย คอนกรีตเสริมเหล็ก หมายความว่าจะมีการเสริมเหล็กเข้าไปเป็นตัวรับแรงดึงในคอนกรีต ซึ่งทำให้คอนกรีตรับแรงดึงไว้ได้
ภาพ: ทางด่วนยกระดับ
ในระยะหลังนี้เราจะเห็นว่าสะพานเริ่มยาวขึ้น ตัวอย่างเช่น สะพานยกระดับในสมัยที่ทำโทลล์เวย์ขึ้นมา เริ่มต้นจากดินแดงไปสิ้นสุดที่สนามบินดอนเมือง ปัจจุบันก็จะไปถึงบางปะอินแล้ว ถ้าเป็นเส้นทางเช่นนี้้ก็จะเป็นสะพานที่มีความยาวช่วงไกล ซึ่งมีระยะประมาณ 25 เมตร ก็จะเปลี่ยนมาใช้สะพานคอนกรีตอัดแรง และใช้คานสะพานที่มีความยาวช่วงไกลกว่าตัวแผ่นพื้นที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
ลักษณะการทำคอนกรีตอัดแรงจะมีการใช้ตัวลวดอัดแรง คานสะพานคอนกรีตอัดแรงที่ว่านี้ก็เป็นแบบสำเร็จรูปที่ทําจากโรงงานเพราะฉะนั้นวิธีการก่อสร้าง ก็จะดึงลวดก่อนแล้วเทคอนกรีตแล้วตัด
ภาพ: ชิ้นส่วนสะพานรูปกล่อง
ในยุคต่อมาเมื่อการจราจรเริ่มหนาแน่นโดยเฉพาะในเมือง ทำให้ความยาวช่วงสะพานจะต้องไกลขึ้น หรือแม้แต่ในช่วงข้ามทางแยกหรือแม่น้ำ ก็อาจจะมีระยะทางเป็นหลักร้อยเมตรได้ ลักษณะความยาวแบบนั้นก็จะ
“ต้องเปลี่ยนมาใช้คานสะพานแบบใหม่ที่ใช้ระบบคอนกรีตอัดแรงเหมือนกัน โดยจะทำคานสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง (Prestress Segmental) ที่มีช่องว่างภายใน และดึงลวดเข้าไปภายในช่องว่าง แตกต่างจากคานแบบเดิมที่ลวดอัดแรงจะอยู่ภายในคอนกรีต”
การใช้คานสะพานในลักษณะนี้มีข้อดีตรงที่ หากในอนาคตมีการจราจรหนาแน่นมากขึ้น ก็จะดึงลวดอัดแรงเข้าไปเพิ่มเติมได้ การใช้สะพานแบบนี้จะมีให้เห็นได้ 2-3 รูปแบบ ได้แก่
ภาพ: Launcher ในงานก่อสร้าง
กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและทางยกระดับสำหรับรถไฟฟ้า จะใช้เป็นชิ้นส่วนสำเร็จเป็นชิ้น (Segment) ใน 1 Segment อาจมีความกว้าง 2.5-3.5 ม. ถ้าคานมีระยะ 40 เมตร ก็ต้องนำจํานวนชิ้นเอามาเรียงกัน และต้องมีอุปกรณ์ยึดชิ้นส่วนไว้
“โครงเหล็กเรียกว่า Launcher ใช้ประกอบชิ้นส่วน Segment”
ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการปิดการจราจรเพื่อขนย้ายชิ้นส่วน โดยใช้โครงเหล็กที่เรียกว่า Launcher แล้วใช้สลิงแขวน Segment แล้วดึงขึ้นประกอบกันตามความยาวที่ต้องการ แล้วดึงลวดอัดแรงในภายหลัง
สำหรับคานสะพานที่มีความกว้างมากกว่าปกติ เช่น ตอม่อที่มีความมากกว่า 40 เมตร และมีความยาวช่วง 200-300 เมตร ก็จะใช้คอนกรีตอัดแรงแบบหล่อกับที่ เพราะโดย Economy of Scale ตัวอย่างเช่น สะพานพระราม 3 จะใช้แบบหล่อในแนวนอน แล้วเลื่อนแบบหล่อออกไปเรื่อย ๆ จนทั้งสองฝั่งมาชนกัน ทำให้ได้ความยาวช่วงที่ต้องการ
การสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรง เหมาะกับพื้นที่แบบไหน?
ภาพ: สะพานขนาดใหญ่ริมชายฝั่ง
ในส่วนการใช้งานจะขึ้นอยู่กับช่วงความยาว และพื้นที่ที่จะก่อสร้าง เช่น
- หากสร้างในพื้นที่ต่างจังหวัด ก็อาจใช้คานสะพานท่อนเดียวยาว 25 เมตร ที่ยกได้สะดวกกว่า
- ในเมืองใหญ่อาจใช้คานสะพานที่ไม่ใช่รูปตัว I แต่จะเป็นคานจะพานรูปกล่อง ซึ่งจะสะดวกกว่ามาก
- ถ้าหากยาวขึ้นมาก ๆ ก็ใช้วิธีการสร้างแบบคานยื่นสมดุลแล้วก็อาจจะใช้ชิ้นส่วนมาประกอบหรือในกรณีที่มีแค่สแปนเดียว แต่พื้นที่ใหญ่มากก็จะใช้วิธีการหล่อกับที่ โดยใช้แบบหล่อเคลื่อนไปตามแนวราบ
การออกแบบก่อสร้างสะพานประเภทนี้ มีเรื่องใดที่ต้องให้ความสำคัญบ้าง?
ภาพ: การก่อสร้างขนาดใหญ่
ในเรื่องของความอันตราย ตัวอย่างที่ชัดเจนก็อย่างเช่น กรณีสะพานข้ามทางแยกที่ลาดกระบัง ซึ่งมีปัญหาชิ้นส่วนตกลงมาในช่วงที่กำลังก่อสร้าง มีปัญหาตอม่อหักหรือปัจจัยอื่นที่ทำให้สะพานตกลงมาพร้อมกับตัว Launcher
“เพราะฉะนั้นการก่อสร้างด้วยวิธีนี้จึงจําเป็นต้องมีการตรวจสอบอุปกรณ์ เช่น Launcher พร้อมสำหรับการใช้งานหรือไม่ อุปกรณ์ติดตั้งตัว Segment พร้อมใช้งานหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่สัญจรบนถนนและคนงานก่อสร้างด้วย”
ในอนาคตอาจมีการนำเสนอการคำนวณระยะการใช้ Launcher พร้อมด้วยการทดสอบ ซึ่งปกติจะต้องทำกันอยู่แล้ว และอาจมี Serial Number สำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ว่าถูกนำไปใช้ที่ไหนและผ่านการตรวจสอบหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้อยู่ในระหว่างการผลักดันให้เกิดขึ้น
นอกจากสะพานคอนกรีตอัดแรงที่ใช้ในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีใดที่น่าจับตามองในอนาคต
ภาพ: สะพานเหล็กข้ามทะเล
ถ้าเราพูดถึงการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการทําคอนกรีตหรือการก่อสร้างอื่น ๆ ก็จะทำให้เกิดฝุ่น คาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก ดังนั้นถ้าเราทำโครงสร้างที่ช่วยลดฝุ่นและมลภาวะ เช่น โครงสร้างเหล็ก ก็ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือสะพานไทย-เบลเยียม และสะพานไทย-ญี่ปุ่น ถือเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่สะดวก ใช้วิธียกชิ้นส่วนมาเชื่อมและทำให้มีความยาวช่วงตามต้องการ ก็ถือเป็นแนวทางที่ดี
ภาพ: พื้นผิว Weathering Steel
“Weathering Steel ป้องกันการกัดกร่อน ด้วยการทำให้เหล็กเป็นสนิม”
อย่างไรก็ตามสะพานเหล็กก็อาจมีปัญหาเรื่องการกัดกร่อน อาจจะต้องมองหาเหล็กที่เหมาะสมกับการก่อสร้างมากขึ้น อีกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้คอนกรีตจำนวนมากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยตามภูมิประเทศที่ติดทะเล เราจะเห็นได้ว่ามีสะพานคอนกรีตและสะพานเหล็กในจำนวนใกล้เคียงกัน ซึ่งคอนกรีตจะทนทานได้ดีกว่า เพราะทำให้หนาขึ้นได้
แต่สะพานเหล็กก็มีโอกาสเกิดสนิมขึ้นได้ ทำให้ญี่ปุ่นเลือกใช้เหล็กที่ทนทานการกัดกร่อน (Weathering Steel) ซึ่งเป็นเหล็กที่ทำให้เกิดสนิมก่อน โดยพื้นผิวสนิมนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการกัดกร่อนจากไอเกลือ ไอคลอรีนจากทะเล สะพานเหล็กจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ช่วยลดการก่อสร้างและการขนส่งลงได้
รศ. เอนก ศิริพานิชกร
ภาพจาก https://www.kmutt.ac.th/kmutt-org/director-other-kmutt/
- ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม สภาวิศวกร
- ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
- วุฒิวิศวกรโยธา (ว.ย. 1330) สภาวิศวกร
- วุฒิสมาชิก สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.)
- วุฒิสมาชิก สมาคมคอนกรีตไทย (สคท.)