ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เพราะผลกระทบจากภาวะโลกเดือดที่ชัดเจนขึ้นทุกวัน การสร้างบ้านจากวัสดุธรรมชาติอย่าง "ดิน" จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยในยุคนี้ เพราะนอกจากจะเป็นภูมิปัญญาที่อยู่มาเป็นพันปีแล้ว การสร้างบ้านดินก็ยังดีต่อผู้อยู่อาศัย ทั้งอุณหภูมิคงที่อยู่สบาย และยังไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย
จระเข้จะพาทุกคนไปพูดคุยกับคุณปัจจ์ บุญกาญจน์วนิชา ผู้เชี่ยวชาญด้านบ้านดิน สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง บริษัท La Terre (ลาแตร์) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุสร้างบ้านจากดินแห่งแรกของประเทศไทย ที่จะนำความรู้ด้านแบบดินแบบเจาะลึกมาฝากทุกคนกัน
- ก่อสร้างบ้านดินควรรู้อะไรก่อนบ้าง?
- วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้สร้างบ้านดินแตกต่างจากการก่อสร้างทั่วไปอย่างไร
- ขั้นตอนใดเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างบ้านดินให้แข็งแรง
- นอกจากการก่อสร้างแล้ว การอาศัยอยู่ในบ้านดินต่างจากบ้านทั่วไปอย่างไรบ้าง?
- ถ้าสนใจสร้างบ้านดินต้องใช้ระยะเวลานานหรือไม่?
- คนยุคใหม่จะให้ความสนใจกับบ้านดินมากขึ้นหรือไม่?
- เทคโนโลยีเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้านดินที่น่าจับตามองในอนาคตมีอะไรบ้าง?
- ปัจจ์ บุญกาญจน์วนิชา
บ้านดินเหมาะกับใครและสภาพแวดล้อมแบบไหน?
“รูปแบบของบ้านดิน ควรสร้างให้เหมาะกับลักษณะของภูมิภาคนั้น ๆ”
บ้านดินเป็นภูมิปัญญาโบราณที่อยู่มานานเป็นหลักพันปี และมีการกระจายสร้างมาทั่วโลก โดยคุณสมบัติของดินหรือบ้านดิน เมื่อสร้างเป็นผนังอาคารแล้วจะเป็นวัสดุที่หายใจได้ หมายความว่ามีการแลกเปลี่ยนความชื้น อากาศกับสภาวะแวดล้อมของเราตลอดเวลา
ดังนั้นถ้าจะถามว่าเหมาะกับใคร คงจะขึ้นอยู่กับรูปแบบของบ้านดิน ที่ควรจะสร้างให้เหมาะกับลักษณะของภูมิภาคนั้น ๆ อย่างประเทศไทยบ้านเราอยู่ในภูมิอากาศร้อนชื้น การนำดินมาใช้ควรจะต้องออกแบบช่องเปิดในตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อให้ระบายอากาศได้ดี
ผนังที่หายใจได้ จะเป็นผนังที่เรียกว่า Thermal Mass (ค่าการสะสมพลังงานความร้อนของวัสดุ) เป็นฉนวนที่มีการหน่วงความร้อนเข้ามา ผนัง Thermal Mass จึงทำงานได้ดีกับการระบายอากาศที่ดี เพราะฉะนั้นถ้าจะทำบ้านดินให้เหมาะกับบ้านเรา ก็ต้องทำให้ระบายอากาศได้ดีด้วย
“สำหรับต่างประเทศบ้านดินก็เป็นภูมิปัญญาที่มีมานับพันปี ส่วนในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มใช้ดินสร้างบ้านเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา”
ความสนใจเรื่องบ้านดินในไทยเพิ่งมีมาเมื่อ 20-30 ปี ก็ยังถือว่าไม่มีองค์ความรู้มากนัก เริ่มมาจากการลองผิดลองถูกทำกันมาเรื่อย ๆ จึงมักจะเห็นเป็นอาคารเล็ก ๆ ที่ไว้อยู่อาศัย
ก่อสร้างบ้านดินควรรู้อะไรก่อนบ้าง?
1. เรื่องของกฎหมายควบคุมการสร้างบ้านดิน
การใช้ดินเป็นโครงสร้างของอาคาร โดยอาคารจะมีส่วนที่เป็นโครงสร้างและไม่ใช่โครงสร้าง ส่วนที่เป็นโครงสร้างจะรับน้ำหนัก และสร้างความแข็งแรงให้กับอาคาร ส่วนนี้กฎหมายของไทยจะยังไม่รองรับให้ดินมาเป็นส่วนของโครงสร้าง เป็นเสา เป็นคาน ถ้าทุบออกแล้วบ้านจะพัง
แต่ส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โครงสร้าง เช่น ผนัง คือเราทุบแล้วบ้านไม่พัง จะใช้ดินเป็นวัสดุก่อสร้างได้ สำหรับอาคารขนาดเล็กที่ไม่เกิน 150 ตารางเมตร จะก่อสร้างได้โดยมีขั้นตอนการขออนุญาตน้อยกว่าอาคารหลังให
2. ลักษณะดิน และความแข็งแรงของดิน
ถ้าพูดเรื่องบ้านดินจะเป็นลักษณะของดินดิบ คือดินที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูปทางอุตสาหกรรม ความร้อน หรือว่าดินเผา ดินดิบเหล่านี้จึงมีข้ออ่อนไหวต่อสภาวะแวดล้อมก็คือน้ำฝน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องปรับปรุงคุณภาพของดินให้แข็งแรงพอ ไม่อ่อนไหวต่อน้ำมากจนเกินไป
การผสมเพิ่มความแข็งแรงให้ดินจะมีอยู่หลายอย่าง ส่วนผสมที่เพิ่มเข้าไปจะเรียกว่า Stabilizer แต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาค แต่ละภูมิปัญญา มีการผสมต่างกันออกไป พัฒนากันขึ้นเรื่อย ๆ ในสมัยก่อนถ้าเป็นบ้านดินในไทยก็จะเจอขี้ควายเพิ่มเข้าไป ก็ถือเป็น Stabilizer ชนิดหนึ่งที่ทำให้ดินกันน้ำได้ดีขึ้น
“ส่วนผสมที่เพิ่มเข้าไปจะเรียกว่า Stabilizer แต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาค แต่ละภูมิปัญญา”
ในต่างประเทศก็จะมีการใส่นม ใส่เนย ใส่วัตถุดิบต่าง ๆ ที่ทำให้บ้านดินทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ดีกว่าปกติ แต่ปัจจุบันจะมีการผสมสารอื่น ๆ เพิ่มเข้าไป เช่น ปูนซีเมนต์ก็เป็นวัสดุหนึ่งที่ผสมเพิ่มเข้าไป เพื่อให้บ้านดินทนน้ำได้ หรือจะเป็นปูนขาว หรือวัสดุอื่น ๆ ที่จะพบเห็นได้บ่อย
วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้สร้างบ้านดินแตกต่างจากการก่อสร้างทั่วไปอย่างไร
“การก่อสร้างบ้านดินมีอยู่หลายเทคนิค หลายวิธี ตั้งแต่แบบที่แทบจะไม่ต้องใช้อุปกรณ์เลย กับแบบที่ใช้อุปกรณ์เยอะ ๆ แล้วแต่เทคนิคที่เราใช้”
ถ้าเราพูดถึงบ้านดินแบบที่เราคุ้นเคย ก็จะเป็นการสร้างแบบ Adobe เป็นการสร้างอิฐขึ้นมาก่อน (Adobe Brick) โดยนำดินมาย่ำ ๆ แล้วโยนใส่บล็อก แล้วก็ยกบล็อกออกก็จะได้อิฐแห้ง ๆ มาก่อเป็นผนังอาคาร วิธีนี้ก็แทบจะไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลย เมื่อได้ก้อนอิฐแล้วก็จะเป็นอิฐก้อนใหญ่ ๆ ก็ถือเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ทำได้เร็ว
“การใช้อุปกรณ์จึงขึ้นอยู่กับเทคนิคที่เราเลือกใช้”
แต่ถ้าจะให้เทียบกับวิธีอื่น ๆ เช่น วิธี Rammed Earth ที่เป็นการใช้ดินอัด ที่ต้องมีการตั้งแม่แบบขึ้นมาเหมือนกับการหล่อคอนกรีต แล้วเทดินลงไปในช่องว่างเพื่อสร้างผนังขึ้น ก็จะใช้วัสดุอุปกรณ์เหมือนกับการหล่อคอนกรีตเลย
การใช้อุปกรณ์จึงขึ้นอยู่กับเทคนิคที่เราเลือกใช้ บางเทคนิคก็อาจใช้ร่วมกับไม้ไผ่ เช่น เอาไม้ไผ่มาสานเป็นโครงก่อนแล้วเอาดินมาโปะ ก็จะมีเทคนิคมัดไม้ไผ่ให้แน่น บางเทคนิคก็อาจไม่ต้องใช้อะไรเลย แค่เอาดินมาปั้นเป็นบ้าน ใช้ดินมาโปะ ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นผนังอาคาร ก็ทำได้เลยเหมือนกัน
ขั้นตอนใดเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างบ้านดินให้แข็งแรง
“มีอยู่ 2 เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ฐานรากและหลังคา”
เรื่องการกันความชื้นที่มีโอกาสเข้ามาสู่ผนังดินได้ตลอดเวลา และน้ำที่เข้ามาจากใต้ดิน ส่วนที่อยู่ใต้ดินจึงไม่ควรทำจากดิน แต่ต้องมีฐานรากอย่างคานคอดินที่ทำจากวัสดุที่แข็งแรงกว่า เช่น ปูน เหล็ก แล้วค่อยสร้างผนังหรือส่วนอื่น ๆ ด้วยดิน อีกส่วนคือเรื่องหลังคา ควรจะมีหลังคาที่ยื่นยาวพอจะปกป้องผนังดินจากฝนหรือสภาวะแวดล้อม
นอกจากการก่อสร้างแล้ว การอาศัยอยู่ในบ้านดินต่างจากบ้านทั่วไปอย่างไรบ้าง?
บ้านดินที่ถูกต้องตามหลักการ มีรูปแบบที่ดี มีช่องเปิดที่เหมาะสม จะเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน เพราะผนังดินเป็นผนังชนิด Thermal Mass ที่มีความเป็นฉนวนอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่เป็นชนิดที่หน่วงความร้อน แลกเปลี่ยนความชื้นสัมพัทธ์ เหมือนมีชีวิต หายใจได้อยู่ตลอดเวลา
“ส่วนใหญ่อุณหภูมิก็จะอยู่ในระดับที่เรียกว่า Comfort Zone
หรือในภาวะน่าสบายตลอดเวลาทั้งวัน”
การมีชีวิตอยู่ตลอดนั่นหมายความว่ามันจะปรับอุณหภูมิให้กับตัวเองตลอดเวลา นั่นหมายความว่าผนังดินที่เราสร้างขึ้น จะมีอุณหภูมิอยู่ที่ครึ่งหนึ่งของอุณหภูมิสูงสุดกับต่ำสุด เช่น ถ้าวันนี้อุณหภูมิต่ำสุด 20 สูงสุด 30 องศา บ้านดินของเราก็จะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 25 องศา ตลอดเวลา เวลากลางวันถ้าอุณหภูมิข้างนอก 30 องศา เมื่อเราเดินเข้าในบ้านก็จะรู้สึกเย็น จริง ๆ แล้วไม่ได้เย็นตลอดเวลา แต่อุณหภูมิจะคงที่ ถ้ากลางคืนภายนอกอากาศหนาวเย็นข้างในก็จะอุ่น
ถ้าสนใจสร้างบ้านดินต้องใช้ระยะเวลานานหรือไม่?
ถ้าเทียบกับบ้านปูนแล้วใช้เวลาพอ ๆ กัน ไม่ได้ช้ากว่าหรือเร็วกว่า บางทีอาจเร็วกว่านิดหน่อยขึ้นอยู่กับการตกแต่ง จริง ๆ บ้านดินสร้างได้ตั้งแต่โครงสร้าง จึงเป็นการรวบกระบวนการก่อสร้าง ไม่ต้องขึ้นโครง เทปูน ก่ออิฐ หรือฉาบ เช่น สร้างผนังดินขึ้นมาแล้วจบในขั้นตอนเดียว ไม่ต้องขึ้นโครงภายใน และไม่ต้องทาสีก็ได้เพราะมีสีดินในตัว
คนยุคใหม่จะให้ความสนใจกับบ้านดินมากขึ้นหรือไม่?
ปัจจุบันก็มีคนสนใจการสร้างบ้านดินมากขึ้น ด้วยสภาวะแวดล้อมของเราที่มันวิกฤตอยู่ ที่เป็นสภาวะโลกร้อน โลกเดือดอยู่ในปัจจุบัน ก็มีคนให้ความสนใจเรื่องวัสดุธรรมชาติมากขึ้น ทำลายโลกปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) น้อยลง
“การสร้างบ้านดินก็เหมือนกับการขอยืมมาใช้ จนถึงวันที่เลิกใช้งานไป มันก็กลับสู่ธรรมชาติได้ 100%”
ดินถือเป็นวัสดุธรรมชาติที่นำมาแทนวัสดุปัจจุบันได้ดี แล้วก็ทำลายโลกน้อยลง เพราะว่าไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูปทางอุตสาหกรรม มันใช้พลังงานน้อยในการขุดมาใช้ เหมือนกับการขอยืมมาใช้ จนถึงวันที่เราใช้งานไป หรือว่าเลิกใช้งานไปมันก็กลับสู่ธรรมชาติได้ 100% เลย
เทคโนโลยีเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้านดินที่น่าจับตามองในอนาคตมีอะไรบ้าง?
“Clay Plaster ดินฉาบสำเร็จรูป ทางลัดในการสร้างบ้านดิน”
ปัจจุบันมีการนำดินมาประยุกต์ใช้ทดแทนวัสดุอื่น ๆ อยู่เรื่อย ๆ อย่างเช่น Clay Plaster เป็นดินฉาบสำเร็จรูป ก็จะได้ทางลัดในการสร้างบ้านดิน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความแข็งแรงของตัวโครงบ้าน เพราะเป็นการประดับตกแต่ง สร้างบ้านดินได้แข็งแรงและเร็วขึ้น
และยังมีการพัฒนาไปสู่ส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น การใช้ดินพ่นบนหลังคาเมทัลชีท ช่วยป้องกันเสียง และเป็นฉนวนกันความร้อนไปด้วยในตัว ดินถือเป็นวัสดุธรรมชาติที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีสารระเหย ถ้านำมาฉาบในบ้านก็เป็นการตัดวงจรของสารเคมี
เช่น การทาสีบางชนิดก็จะมีการตกค้างของสารระเหย โดยงานวิจัยจะมีสารระเหยประเภทสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง หลังจากการทาสีก็จะยังอยู่กับเรา 3 ปี เราก็สูดดมเข้าไปโดยที่เราไม่รู้ตัว
ถ้าเปรียบเทียบเป็นห้องนอน ก็เหมือนเราต้องสูดดมสารเหล่านี้เข้าไปเยอะถึง 1 ใน 3 ของเวลาทั้งวัน การใช้ดินจึงตัดวงจรเหล่านี้ออกไปได้ อากาศในบ้านเราก็บริสุทธิ์ขึ้น หรืออาจจะใช้กับส่วนอื่น ๆ ของบ้านโดยไม่ต้องจำกัดเฉพาะห้องนอนเท่านั้น
ใครกลัวเรื่องสารระเหยที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ยังไม่เคยได้ยินหรือไม่รู้จักกับสารฟอร์มาลดีไฮด์ จระเข้ได้รวบรวมความรู้ดี ๆ พร้อมด้วยการเลือกสีทาบ้านให้ปลอดภัยจากสารเคมีที่เป็นอันตรายมาฝากกัน สนใจอ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ สารฟอร์มาลดีไฮด์คืออะไร? อันตรายอย่างไร? เลือกสีทาบ้านอย่างไรให้ปลอดภัยจากสารนี้
ปัจจ์ บุญกาญจน์วนิชา
- สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง บริษัท La Terre (ลาแตร์) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุสร้างบ้านจากดิน แห่งแรกของประเทศไทย
สนใจความรู้ดี ๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการก่อสร้าง อ่านต่อได้ที่…