เคยสงสัยหรือไม่ว่าถนนคอนกรีตผิวหลุดล่อนที่เราเห็นกันบ่อย ๆ เกิดจากอะไรได้บ้าง แค่เพราะรถขับผ่านไปมาอย่างเดียวหรือเปล่า วันนี้ไปเจาะลึกเรื่องการซ่อมแซมผิวถนนคอนกรีตกันให้มากขึ้นกับ ศาสตราจารย์ ดร. พานิช วุฒิพฤกษ์ ศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาครุศาสตร์โยธา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้คำตอบกับทุกคนกัน
พื้นผิวถนนคอนกรีตหลุดล่อน หรือถนนเป็นฝุ่นเกิดจากอะไรได้บ้าง?
ภาพ: ถนนคอนกรีตแตกร้าว
จริง ๆ ถนนคอนกรีต ความเสียหายของมันก็จะมีอยู่ได้ 2 กรณี คือ ถ้าเป็นฝุ่นหลุดล่อนก็แสดงว่าคุณภาพของคอนกรีตอาจจะไม่ได้คุณภาพ ในแง่ของส่วนผสมที่ใช้
และความเสียหายอีกแบบหนึ่งก็คือ ความเสียหายที่เกิดจากตัวชั้นดิน หรือว่าชั้นโครงสร้างที่อยู่ด้านล่างของคอนกรีต มันไม่แข็งแรง เช่น ดินที่รองรับเกิดการทรุดตัว แอ่นตัว ส่งผลกระทบต่อผิวแผ่นดินด้านบน
แล้วรถใหญ่ที่วิ่งบนถนนมีส่วนทำให้พื้นผิวถนนพังด้วยหรือไม่?
ภาพ: รถบรรทุกบนถนนคอนกรีต
กรณีนี้จะเกิดจากชั้นดินที่รองรับถนนไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากพอ พอมีน้ำหนักมากเกินไป โดยปกติถนนคอนกรีตจะออกแบบให้รับน้ำหนักได้มากกว่าถนนลาดยางอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะออกแบบดีอย่างไร ถ้าน้ำหนักบรรทุกมากเกินกว่าที่ถนนจะรับได้ ก็ย่อมทำให้เกิดความเสียหายได้อยู่ดี
“ถ้าเป็นถนนของกรมทางหลวง ก็จะมีน้ำหนักบรรทุกกำหนดไว้อยู่แล้ว”
จึงต้องมีข้อกำหนดว่ารถที่จะใช้ทางต้องมีขีดจำกัดน้ำหนักบรรทุกเท่าไรบ้าง ซึ่งถ้าเป็นถนนของกรมทางหลวง ก็จะมีน้ำหนักบรรทุกกำหนดไว้อยู่แล้ว ว่ารถที่จะใช้ทางต้องมีน้ำหนักไม่เกินเท่าไร
วัสดุซ่อมแซมผิวหน้าถนนคอนกรีตมีให้เลือกกี่แบบ อะไรบ้าง?
ภาพ: ถนนคอนกรีตที่มีรอยจอยต์
โดยทั่วไปในการซ่อมแซมคอนกรีตก็ต้องซ่อมด้วยวัสดุที่คล้ายคลึงกับผิวถนนเดิมแล้วแต่ความเสียหาย ถ้าสมมุติว่าเป็นความเสียหายของแผ่นคอนกรีตนั้นก็จะต้องดูตำแหน่งที่เสียหาย เพราะปกติถนนคอนกรีตใช้วิธีเท แล้วก็จะมีส่วนที่เป็นจอยต์ (Joint) ก็อาจจะเลือกดูว่าเสียหายที่ล็อกไหน แผ่นไหน แล้วความเสียหายมันเยอะ ก็จะรื้อขึ้นมาทั้งแผ่นแล้วเทใหม่
ภาพ: การซ่อมแซมพื้นผิวถนนคอนกรีต
“ถ้าน้ำซึมลงไปชั้นดินได้ ก็อาจทำให้ความเสียหายลุกลาม”
ถ้าเป็นความเสียหายเฉพาะจุด เป็นความเสียหายที่เกิดเป็นรอย Crack (แตกร้าว) ก็อาจใช้เป็นวัสดุซ่อมแซม ไม่ให้น้ำซึมลงไปข้างล่าง เพราะถ้าน้ำลงไปข้างล่างได้จะทำให้ดินด้านล่างอ่อนตัว ความเสียหายก็อาจจะลุกลาม อาจมีการอุดรอย Crack วัสดุอุดรอย Crack ที่ใช้ก็อาจจะเป็นยางมะตอย
บางทีก็อาจใช้วัสดุที่เป็นโฟมฉีดอัดเข้าไป แล้วรอให้โฟมนั้นแข็งตัว หรืออาจจะใช้วัสดุอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับความเสียหาย บางกรณีอาจใช้คอนกรีตซ่อมแต่ความเสียหายจะต้องมีขนาดใหญ่มากพอ เพราะถ้าความเสียหายใหญ่ไม่พอ ก็อาจจะทำให้หลุดล่อนได้ง่าย
เทคนิคการซ่อมแซมผิวหน้าถนนคอนกรีตที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมีแบบไหนบ้าง?
ภาพ: การซ่อมแซมถนนคอนกรีตด้วยวิธี Asphalt Concrete Overlay
การซ่อมแซมจะขึ้นอยู่กับความเสียหาย ถ้าสมมุติว่าเป็นความเสียหายลักษณะที่หลุดล่อนออกมา หรือเป็นเรื่องความไม่สม่ำเสมอ ก็อาจใช้วิธี Overlay ผิวหน้าโดยใช้ Asphalt Concrete (Asphalt Concrete Overlay) ซึ่งทำให้ผิวหน้าถนนเรียบ
ถ้าเป็นความเสียหายลึก ก็จะใช้วิธีเทคอนกรีตลงไปทดแทน แต่ถ้าเป็นรอยร้าวตามมุม เพราะมีน้ำซึมลงไปก็อาจใช้สารอัดฉีดลงไป ลักษณะเป็นการเกร้าท์ด้วยน้ำซีเมนต์
“โดยความเห็นส่วนตัว ถ้าเป็นถนนคอนกรีตก็ควรใช้คอนกรีต หรือยางมะตอย (Asphalt) วัสดุทั้ง 2 ประเภทนี้ก็จะได้รับความนิยมมาก”
วิธีป้องกันถนนคอนกรีตหลุดล่อนเป็นฝุ่น ทำอย่างไรได้บ้าง?
ภาพ: การจราจรบนถนน
“ปัญหาพื้นผิวถนนคอนกรีตหลุดล่อน อาจเกิดจากวัสดุไม่ได้คุณภาพ และการจราจรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด”
จริง ๆ จะขึ้นอยู่กับการผลิตคอนกรีตให้มีคุณภาพ เพราะลักษณะของพื้นผิวถนนเป็นฝุ่นเกิดจากการที่ล้อไปตะกุยพื้นผิว ซึ่งปัญหาผิวหลุดล่อนจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าคอนกรีตมีกำลังสูง มี Strength (ค่ากำลังอัดคอนกรีต) ที่สูงพอ รวมถึงวัสดุที่นำมาใช้ก็เหมาะสม เช่น หินที่มีคุณสมบัติเหมาะ ก็จะอยู่ที่การเลือกวัสดุ
โดยหลักการแล้วการออกแบบถนน จะคำนึงถึงการรับแรงดัด จะคำนึงถึงความแข็งแรงในเชิงแรงดัดเป็นหลัก จะไม่เหมือนการสร้างอาคารทั่วไปที่เราจะดูความแข็งแรงในเชิงอัด
ส่วนการสูญเสียผิวหน้าเป็นเรื่องของคุณสมบัติของวัสดุมากกว่า ซึ่งจริง ๆ ถ้าความ แข็งแรงเชิงดัดได้แล้วก็ปริมาณการจราจรเป็นไปตามที่กำหนด ปัญหานี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น แต่ที่เกิดขึ้นเพราะคุณภาพวัสดุไม่ได้ และปริมาณการจราจรมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ในอนาคตถ้ารถมากขึ้น ก็ต้องเพิ่มคุณสมบัติของวัสดุตามไปด้วย?
“ปกติแล้วในการออกแบบถนน จะต้อง Forecast (คาดการณ์) ไปประมาณ 20 ปี” โดยดูว่าปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นในการออกแบบครั้งหนึ่งจะต้องมีการเก็บข้อมูล ณ ปัจจุบัน
ภาพ: ถนนคอนกรีต
แล้วก็ Forecast ไปอีก 20 ปี โดยคิด Growth Rate หรืออัตราการเพิ่มขึ้นของรถ สมมุติคิดเพิ่มขึ้นเป็น 6% เราก็จะได้ปริมาณการจราจรที่ Design life (ปีอนาคตที่ออกแบบใช้งาน) ที่ 20 ปี
ปกติจะต้องคิดเผื่ออยู่แล้ว แต่ว่า Design life ถ้าคิดเผื่อไปมากกว่านั้น ก็อาจจะสิ้นเปลือง หรือไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะทุก ๆ ระยะเวลาจะต้องมีการตรวจสอบ และมีการซ่อมบำรุงเป็นระยะอยู่แล้ว
ภาพ: ศาสตรจารย์ ดร. พานิช วุฒิพฤกษ์
ศาสตรจารย์ ดร. พานิช วุฒิพฤกษ์
ตำแหน่งทางวิชาการ: ศาสตราจารย์
มหาวิทยาลัย: เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
คณะ/สำนัก/สถาบัน: ครุศาสตร์อุตสาหกรรม
ภาควิชา/สำนัก/สาขาวิชา: ภาควิชาครุศาสตร์โยธา
หลักสูตร สาขาวิชา: วิศวกรรมโยธา
สนใจความรู้ด้านการก่อสร้าง ซ่อมแซม จากผู้เชี่ยวชาญ คลิก...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการก่อสร้างถนนคอนกรีตในประเทศไทยกับ ศาสตราจารย์ ดร. พานิช วุฒิพฤกษ์
ความรู้ดี ๆ เรื่องโครงสร้างคอนกรีต ใกล้ทะเลหรือแหล่งน้ำกับ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ
นวัตกรรมสีทาบ้านที่ตอบโจทย์หลักอาคารเขียว กับ ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร