ประเด็นสำคัญ
- เหล็กเส้นเป็นวัสดุก่อสร้างชิ้นสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับงานคอนกรีตของโครงสร้างบ้าน ทั้งฐานราก เสา คาน พื้นผนัง ทำให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น ทนต่อแรงดึงมากขึ้น
- เหล็กเส้นมีให้เลือกทั้งแบบเส้นกลมที่เป็นพื้นผิวเรียบ เหมาะกับงานอาคารเล็ก ๆ รับน้ำหนักไม่เยอะ และแบบข้ออ้อยที่เหมาะกับงานขนาดใหญ่ ที่ต้องรับน้ำหนักเยอะมาก ๆ แบบต่อเนื่อง
เหล็กเส้นเป็นวัสดุก่อสร้างที่สำคัญต่อโครงสร้างคอนกรีตมาก ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้าน ถนน สะพาน ไปจนถึงเขื่อน เหล็กเส้นก็ช่วยเสริมความแข็งแกร่งได้ดีมาก และเพื่อให้โครงสร้างแข็งแรงมากขึ้น ก็ควรเลือกประเภทและขนาดเหล็กเส้นที่เหมาะสมกับงานที่จะใช้ วันนี้จระเข้จะพาทุกคนไปรู้จักกับวัสดุชนิดนี้ให้มากขึ้นว่าจะน่าสนใจอย่างไร และมีขนาดเท่าไรให้เลือกบ้าง
เหล็กเส้นคืออะไร?
“วัสดุก่อสร้างที่ใช้เสริมความแข็งแกร่งในงานคอนกรีต”
เหล็กเส้น คือวัสดุก่อสร้างที่ทำขึ้นเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างคอนกรีตโดยเฉพาะ การใช้เหล็กเส้นในงานคอนกรีตจะช่วยเพิ่มความทนทานต่อแรงดึง และทำให้โครงสร้างแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม ใช้ได้กับโครงสร้างแทบทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นฐานราก เสา คาน พื้น กำแพง และบันได
พราะเหล็กเส้นผลิตด้วยการหลอมเหล็กด้วยอุณหภูมิสูง แล้วเทลงในแม่พิมพ์ จากนั้นก็ใช้กระบวนการรีดร้อนให้เป็นเส้นยาว แล้วนำไปทดสอบคุณสมบัติความทนทานตามมาตรฐานเพิ่มอีก ทำให้ได้วัสดุที่รับน้ำหนักได้มาก โดยที่ไม่เกิดการแตกร้าวหรือหักง่าย
เหล็กเส้นที่ใช้ในงานก่อสร้างจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ซึ่งจะต่างกันทั้งเรื่องลักษณะและการใช้งาน จะต่างกันตรงไหนบ้างนั้น จระเข้มีความรู้ดี ๆ พร้อมให้อ่านกันต่อแล้ว!
เหล็กเส้นมีกี่ประเภท? แบบไหนเหมาะกับงานอะไร?
1. เหล็กเส้นกลม
“ผิวเรียบ เหมาะกับงานที่ไม่หนักมาก บ้านพัก อาคารเล็ก ๆ”
เหล็กเส้นกลม (Round Bar) มักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า RB มีลักษณะผิวเรียบ และเส้นผ่าศูนย์กลางเล็ก มักใช้ในงานโครงสร้างขนาดเล็ก หรืองานก่อสร้างที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น บ้านพักอาศัย หรืออาคารเล็ก ๆ
จุดเด่นของเหล็กเส้นประเภทนี้จะอยู่ที่ความยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อแรงดึง และการบิดเบี้ยวได้ดี เหมาะกับงานที่ไม่ต้องการความแข็งแรงมากนัก เพราะจะยึดเกาะกับคอนกรีตได้น้อยกว่า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางให้เลือกตั้งแต่ 6-25 มม. โดยรูปแบบการใช้งานแบ่งได้ดังนี้
- RB6 หรือเหล็กเส้นกลม 2 หุน ขนาด 6 มม. ใช้ในงานก่อสร้างที่ไม่ต้องรับแรงมาก เช่น การทำปลอกเสาและปลอกคาน หรือโครงสร้างเสริมในคานหรือเสา
- RB9 หรือเหล็กเส้นกลม 3 หุน ขนาด 9 มม. เหมาะกับงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงปานกลาง เช่น การเสริมโครงสร้างที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก
- RB12 หรือเหล็กเส้นกลม 4 หุน ขนาด 12 มม. ใช้ในงานก่อสร้างทั่วไปที่ไม่เน้นยึดเกาะสูง และใช้ในงานกลึง เช่น การกลึงหัวน็อตต่าง ๆ
- RB19 ขนาด 19 มม. เหมาะกับงานก่อสร้างถนน หรือโครงสร้างที่ความทนทานในระดับสูง เช่น งานที่ต้องรับน้ำหนักรถยนต์หรือเครื่องจักร
- RB25 ขนาด 25 มม. รับแรงได้ดีมาก จึงใช้ทำเป็นเหล็กสตัดหรือเกลียวเร่ง ซึ่งช่วยในการยึดโครงป้ายขนาดใหญ่
2. เหล็กเส้นข้ออ้อย
“มีลอนช่วยยึดเกาะกับคอนกรีต เหมาะกับงานโครงสร้างใหญ่อย่างถนน สะพาน”
เหล็กเส้นข้ออ้อย (Deformed Bar) หรือที่เรียกกันว่า DB มีลักษณะพื้นผิวเป็นลอน ทำให้ยึดเกาะกับคอนกรีตได้ดีกว่าแบบเหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับงานโครงสร้างขนาดใหญ่ เช่น อาคารสูง สะพาน หรือถนน
เพราะข้ออ้อยทำให้คอนกรีตและเหล็กเส้นประสานงานกันได้ดี จึงทำให้โครงสร้างมั่นคงมากขึ้นและรับน้ำหนักได้มากกว่า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 10-32 มม. เลือกใช้ได้ตามรูปแบบงานต่าง ๆ ดังนี้
- DB10 หรือเหล็กข้ออ้อยขนาด 10 มม. มักใช้ในงานก่อสร้างขนาดเล็ก เช่น การเสริมคอนกรีตสำหรับงานพื้นบ้านหรือทางเดินในบ้าน งานต่อเติมต่าง ๆ
- DB12 หรือเหล็กข้ออ้อยขนาด 12 มม. ใช้ในงานต่อเติมขนาดกลาง และโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กในอาคารที่มี 1-2 ชั้น
- DB16 หรือเหล็กข้ออ้อยขนาด 16 มม. เหมาะกับงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงปานกลาง เช่น โครงสร้างเสาและคานในอาคารพักอาศัยหลายชั้น หรืออาคารพาณิชย์
- DB20 เหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มม. ใช้ในงานก่อสร้างอาคารความแข็งแรงสูงขึ้น เช่น อาคารสูงขนาด 5-10 ชั้น งานเสริมคานหลัก
- DB25 หรือเหล็กข้ออ้อยขนาด 25 มม. ใช้กับงานโครงสร้างใหญ่และหนัก เช่น สะพาน โครงสร้างฐานรากของอาคารสูง 10 ชั้นขึ้นไป หรือเขื่อน
- DB28 หรือเหล็กข้ออ้อยขนาด 28 มม. ใช้ในงานโครงสร้างแข็งแรงพิเศษ เช่น โครงสร้างสาธารณะขนาดใหญ่ ที่ต้องรับน้ำหนักหรือแรงกดดันจากน้ำหรือดินจำนวนมาก
- DB32 หรือเหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มม. เป็นขนาดที่ใหญ่สุด ใช้ในงานโครงสร้างหนักมาก เช่น รากฐานอาคารที่สูงมากกว่า 20 ชั้น เขื่อน สะพานใหญ่
ฐานราก พื้นฐานแรกของบ้าน รู้จักไว้ก่อน เสริมความแข็งแรงได้ถูก!
มาถึงตรงนี้หลายคนเห็นคำว่าฐานรากหลายครั้งแล้ว อาจจะสงสัยว่าส่วนนี้ของบ้านคืออะไร อยู่ตรงไหน ทำไมไม่เคยเห็นเลย จระเข้มีความรู้ดี ๆ มาฝาก ให้ทุกคนได้ไปดูกันต่อว่าฐานรากของบ้านอาคารคืออะไร มีให้เลือกกี่แบบกันบ้าง ฐานรากคืออะไร? สำคัญอย่างไรต่อการก่อสร้างบ้าน อ่านเลย
เลือกเหล็กเส้นที่เหมาะได้แล้ว อย่าลืมเสริมความแข็งแกร่งด้วย จระเข้ จีพี เกร้าท์
รู้จักกับวัสดุก่อสร้างอย่างเหล็กเส้นกันไปมากขึ้นแล้ว หลายคนอาจจะมองหาตัวช่วยดี ๆ ที่ทำให้บ้านแข็งแกร่งกว่าเดิมอย่างจระเข้ จีพี เกร้าท์ ซีเมนต์ไฮดรอลิกเกร้าท์ ชนิดไม่หดตัว สำหรับงานทั่วไป ที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น งานเสียบเหล็ก ฐานเครื่องจักร ไปจนถึงซ่อมแซมและเสริมแรงโครงสร้างคอนกรีต เพื่อให้บ้านแข็งแกร่ง เสริมเหล็กแล้วทนทานยิ่งกว่าเดิม และยังมาพร้อมคุณสมบัติอื่น ๆ อีก ได้แก่
- ไหลตัวได้ดี ไม่หดตัว ไม่มีน้ำเยิ้มบนผิวหน้า
- รับกําลังอัดสูง >750 ksc (ที่ 28 วัน)
- ใช้เทช่องว่างได้ตั้งแต่ 20-70 มม.
ชมรายละเอียดจระเข้ จีพี เกร้าท์ สั่งซื้อจระเข้ จีพี เกร้าท์
อยากได้ผลิตภัณฑ์จระเข้มาดูแลบ้าน ลองเข้าไปหาตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์กันได้ที่เว็บไซต์จระเข้ เพียงเลือกภูมิภาค จังหวัด และเขตหรืออำเภอ เพียงเท่านี้ก็จะรู้แล้วว่าร้านค้าแถวบ้านร้านไหนที่มีสินค้าคุณภาพรออยู่ หรือจะลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของเราดูก่อนก็ได้ ว่าจะเลือกผลิตภัณฑ์แบบไหนดี ให้ตอบโจทย์บ้านของเรามากที่สุด