เรื่องของภาวะโลกร้อนเป็นเทรนด์ที่คนยุคใหม่ให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมจึงถูกนำมาใช้ในหลากหลายด้าน ทั้งกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ การใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงที่ส่งผลเสียต่อโลกของเรา
วันนี้จระเข้จะพาทุกคนไปรู้จักกับเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันว่าจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง และแนวโน้มของเทรนด์ในอนาคตในมุมมองของดร.ฉัตรตรี ภูรัต ผู้จัดการโครงการอาวุโส รักษาการผู้อำนายการฝ่ายฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม และผู้แทนฝ่ายบริหารจัดการคุณภาพส่วนงานรับรองฉลากเขียว สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
- เทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนมีอะไรบ้าง และจะช่วยโลกของเราได้อย่างไร?
- โควิด-19 ส่งผลอย่างไร? ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม
- แนวโน้มเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตมีอะไรบ้าง?
- สัญลักษณ์ Carbon Footprint คืออะไร? สำคัญอย่างไร? ช่วยส่งเสริมแบรนด์ได้อย่างไรบ้าง?
- ปัจจุบันประเทศไทยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหรือไม่?
- ผลิตภัณฑ์จระเข้ ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เทรนด์เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมในยุคนี้มีอะไรบ้าง
เนื่องจากว่าในปัจจุบันเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงในเรื่องของพฤติกรรมการบริโภค และเรื่องของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคน พฤติกรรมการบริโภค และการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ทำให้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น
“Clean Technology คือ เทคโนโลยีที่สะอาด หรืออาจจะเรียกว่า Green Technology หรือเทคโนโลยีสีเขียว”
แต่ว่าทั้งสองคำนี้ก็มีความหมายที่คล้ายคลึงกันอยู่ โดยนำไปใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงสิ่งแวดล้อมหรือโลกให้น่าอยู่ขึ้น
ภาพ: บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารจากวัสดุธรรมชาติ
เราสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ในการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ โดยคำนึงตั้งแต่
การออกแบบผลิตภัณฑ์
ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นจุดเริ่มต้นที่จะต้องคิดให้ครอบคลุมว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้จะต้องใช้วัสดุอะไร มีดีไซน์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร โดยประยุกต์ใช้หลักการที่เรียกว่า Eco Design ซึ่งมาจากคำว่า Economic & Ecological Design เป็นการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ซึ่งมีหลักพื้นฐาน
“การนำหลักการ 4R มาใช้ ได้แก่ Reduce การลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือใช้วัสดุที่ไม่เป็นอันตราย เน้นเรื่องของการใช้ซ้ำหรือ Reuse ต่อมาคือ Recycle ส่งเสริมให้มีการนำกลับมาใช้ใหม่ และสุดท้ายคือ Repair ยืดอายุการใช้งานโดยการซ่อมบำรุงได้”
Eco Design มีกลยุทธ์ 7 ด้าน ดังนี้
- ลดการใช้วัสดุที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม
- ลดชนิดและปริมาณของวัสดุที่ใช้ ยิ่งใช้องค์ประกอบน้อย ก็จะส่งเสริมการรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ได้มาก โดยใช้กระบวนการที่ไม่ยุ่งยาก
ตัวอย่าง การคัดเลือกวัตถุดิบ โดยจะต้องคำนึงถึงการคัดเลือกวัตถุดิบที่เป็นมิตรของสิ่งแวดล้อม เช่น Green Material ซึ่งเป็นวัสดุทางเลือกที่มาจากธรรมชาติ แหล่งอินทรีย์ รวมถึงอาหารและสิ่งที่เหลือจากการเกษตรอย่าง เช่น พลาสติกชีวภาพที่มีส่วนประกอบเป็นมันสำปะหลัง ชานอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไม่มีสารอันตรายและไม่ทำให้เกิดสารเคมีตกค้าง และยังย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติจะช่วยลดของเสียที่เกิดขึ้น จึงเรียกได้ว่า Green Material เป็นวัตถุดิบซึ่งจะนำไปสู่การผลิต Green Product ต่อไป
ภาพ: หลักการ 4R
“หลักการ 4R คือ Reduce, Reuse, Recycle และ Repair เป็นแนวคิดพื้นฐานของ Eco Design หรือการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ”
- ปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด
- ปรับปรุงการขนส่งผลิตภัณฑ์ ระบบการขนส่งจึงต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาควบคุม เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งมีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ภาพ: ผลิตภัณฑ์ที่เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ปรับปรุงช่วงการใช้งานผลิตภัณฑ์ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ยกตัวอย่างเช่น
- เครื่องใช้ไฟฟ้า สมมติว่าหากเราไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพของพลังงานก็จะส่งผลให้ใช้ไฟฟ้าสูง แต่ถ้าเราเอาหลักของ Eco Design มาประยุกต์โดยเน้นเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น
- การใช้รถยนต์ เพราะรถยนต์มักจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงในช่วงของการใช้งาน ถ้าเรามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ก็จะช่วยลดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ลดการปล่อยสารมลพิษ เป็นตัวอย่างการนำ Eco Design มาปรับปรุงการใช้งานผลิตภัณฑ์
- ยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้น วิธีการยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นมีหลายแบบ อาจจะเป็นเสนอในรูปแบบของบริการเปลี่ยนชิ้นส่วนหรือซ่อมแซม เพื่อให้ใช้งานได้นานขึ้น ไม่กลายเป็นของเสียในระยะเวลาที่ไม่เหมาะไม่ควร และอาจกลายเป็นปัญหาต่อการจัดการต่อไป
- สุดท้ายเป็นการคำนึงถึงขั้นตอนการกำจัดผลิตภัณฑ์ เมื่อเราใช้ผลิตภัณฑ์จนไม่สามารถซ่อมเพื่อใช้งานได้อีก ในขั้นตอนการทิ้งควรมีการออกแบบโดยคำนึงถึงกระบวนการจัดการได้ง่าย เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เมื่อนำไปทิ้งก็ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
ภาพ: ถุงผ้าจระเข้เขียว
“การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ถุงผ้า หลอดกระดาษในปัจจุบัน หรือเทคโนโลยีต่าง ๆที่ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็มีแนวคิดมาจากหลักการ Eco Design ในแต่ละขั้นตอนที่อธิบายมา สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการผลิตสิ่งต่าง ๆ ได้”
เทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนมีอะไรบ้าง และจะช่วยโลกของเราได้อย่างไร?
ภาพ: พลังงานหมุนเวียน
พลังงานหมุนเวียนซึ่งถือเป็น Clean Energy (พลังงานสะอาด) ที่ได้จากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากฟอสซิล เช่น แสงอาทิตย์ ลม ความร้อน และน้ำ เป็นพลังงานสะอาดที่นำมาใช้หมุนเวียนได้ สามารถนำมาใช้ได้ กับทุกกระบวนการผลิต
ตัวอย่างเช่น การนำชิ้นส่วนเหลือทิ้งในการผลิตพลาสติกไปเผาเป็นพลังงานความร้อน แล้วนำพลังงานความร้อนแปลงไปเป็นกระแสไฟฟ้า ช่วยลดการใช้พลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ก็เป็นการใช้พลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่ง เป็นการปรับใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับพลังงานหลักในกระบวนการผลิต ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตแบบเดิม ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง
ถือว่าเป็นนวัตกรรม Upcycle เป็นการนำของเสียมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางหนึ่ง คือการเปลี่ยนจากของเสียเป็นพลังงานโดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า ไพโรไลซิส (Pyrolysis) ซึ่งนอกจากพลาสติกแล้วก็จะมีวัสดุประเภทยาง ที่สามารถนำมาเผาแล้วให้พลังงานสูง ซึ่งจะได้ออกมาเป็นถ่านและน้ำมัน และนำมาใช้ประโยชน์ต่อไปได้อีกเช่นกัน ถือเป็นการเปลี่ยนของเสียเป็นของที่มีประโยชน์
โควิด-19 ส่งผลอย่างไร? ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม
ในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ บางธุรกิจก็หยุดกิจกรรมการผลิตไปเลย ซึ่งส่งผลดี คือ ลดการปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นเพราะคน Work from Home กันมากขึ้น ลดการใช้รถใช้ถนน
แต่ในอีกมุมหนึ่งรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป การใช้บริการเดลิเวอรีมากขึ้น การสั่งอาหารกลับบ้านก็ทำให้เกิดขยะเพิ่มขึ้น ดังนั้นการใช้งานเทคโนโลยีจึงต้องพิจารณาในเรื่องของการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นมากกว่าการจัดการคุณภาพอากาศหรือคุณภาพน้ำ
นอกจากนี้ เพราะคนอยู่บ้านทำงานที่บ้านกันมากขึ้น ทรัพยากรที่ถูกใช้มากขึ้นก็จะเป็นการใช้ไฟและน้ำภายในบ้าน ตรงจุดนี้ก็จะต้องมีมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตที่เน้นอยู่บ้านมากขึ้น ก็จะเป็นอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงต่อไป
แนวโน้มเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตมีอะไรบ้าง?
ภาพ: โรงงานปล่อยของเสียในอากาศ
เนื่องจากในปัจจุบันเรื่องของ Climate Change ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนที่มีผลทำให้โลกร้อน จึงมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ คือ
Carbon Capture ที่ใช้สำหรับดักจับคาร์บอน โดยอาศัยกระบวนการแยกก๊าซ จากนั้นอัดลงไปเก็บไว้ในชั้นดินลึก ๆ เพื่อกักเก็บ
นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของผู้ผลิตในการแสดงความรับผิดชอบ หรือที่เรียกว่า Extend Producer Responsibility หรือ EPR คือขยายความรับผิดชอบให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอน ซึ่งจะมองเป้าหมายได้ 2 ด้าน
- ด้านต้นทาง คือ ผู้ผลิตเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตผลิตภัณฑ์โดยใช้หลักการ Eco Design
- ด้านปลายทาง คือ ผู้ผลิตกำหนดนโยบายและแนวทางการกำจัดของเสียที่ชัดเจนอย่างจริงจัง
ปัจจุบันมีนโยบายต่างประเทศที่ทางประเทศไทยได้ทำข้อตกลงไว้ ซึ่งผู้ผลิตทุกรายที่ทำการซื้อขายกับต่างประเทศจะต้องปฏิบัติตามด้วย ถ้าหากทำได้ก็จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์ของตน และเป็นจุดเด่นที่จะช่วยดึงดูดให้ต่างประเทศสนใจมาลงทุนได้ ถือเป็นการได้เปรียบทางการค้าต่อไปนั่นเอง
สัญลักษณ์ Carbon Footprint คืออะไร? สำคัญอย่างไร? ช่วยส่งเสริมแบรนด์ได้อย่างไรบ้าง?
ภาพ: ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์จระเข้
สัญลักษณ์ Carbon Footprint เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 เป็นการประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละขั้นตอนของวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ คือ พิจารณาตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง การใช้งาน การจัดการหลังการใช้งาน ซึ่งดูแต่ละกิจกรรมว่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนเท่าไร และเปรียบเทียบกับปีฐานว่าก่อนหน้านี้มีค่าเท่าไร เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร เพื่อเปรียบเทียบดูว่ากิจกรรมมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร และนำมาปรับปรุงหรือพัฒนาให้มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลดลงได้อย่างไรบ้าง
ผลิตภัณฑ์ที่มีการติดฉลาก Carbon Footprint แสดงถึงความใส่ใจของผู้ผลิตในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละกระบวนการ โดยมีบุคคลที่ 3 หรือ Certify Body เป็นผู้ตรวจสอบและให้การรับรอง ซึ่งการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เพียงรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อส่วนรวม แต่ยังช่วยให้ผู้ผลิตได้ปรับปรุงกระบวนการและลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหรือไม่?
เรื่องการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด อย่างเช่นการรับรองฉลากสีเขียวก็เป็นสิ่งที่พัฒนากันมาเกือบ30 ปีแล้ว หมายความว่าประเทศไทยมีนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมานาน แต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีกิจกรรมที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษแตกต่างไป
ถ้าถามว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ประเด็นในเรื่องของการพิจารณาหรือมาตรการที่มาจัดการก็จะเปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้ชีวิตในยุคโควิดที่ทำให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป จึงมีมาตรการการจัดการสิ่งแวดล้อมต่างไปจากสมัยก่อนด้วย
ผลิตภัณฑ์จระเข้ ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ภาพ: ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์จระเข้
จระเข้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยผลิตภัณฑ์จระเข้ทั้งกาวซีเมนต์ กาวยาแนว งานกันซึม งานพื้น และตกแต่งผนัง ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ตามมาตรฐาน CFP ซึ่งประเมินจากการใช้ทรัพยากรพลังงานในการผลิต และการปลดปล่อยของเสียรูปแบบต่าง ๆ ครอบคลุมทุกขั้นตอนการผลิต
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์จระเข้กาวซีเมนต์ และตกแต่งผนังจากจระเข้ ก็ยังได้รับฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตามมาตรฐาน CFR โดยประเมินจากรูปแบบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างขั้นตอนการผลิต ลดลง 2% ขึ้นไป เมื่อเทียบกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในปีปัจจุบันกับปีฐาน และนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์การประเมิน จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์จระเข้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโดยรวมได้อย่างยั่งยืน
ภาพ: ดร.ฉัตรตรี ภูรัต
ดร.ฉัตรตรี ภูรัต
- ผู้จัดการโครงการอาวุโส รักษาการผู้อำนายการฝ่ายฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม และผู้แทนฝ่ายบริหารจัดการคุณภาพส่วนงานรับรองฉลากเขียว สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
- ปริญญาเอก (วท.ด.) สาขาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผลงานวิจัย:
“Climate friendly product criteria development”. Project Advancing and Measuring Sustainable Consumption and Production (SCP) for a Low Carbon Economy in Middle-Income and Newly Industrialized Countries (Advance SCP), GIZ;
“Market readiness analysis to support GPP criterial development ” , Project Asia Pacific Green Public Procurement Partnership Plus Project funded by the Korea Environmental Industry & Technology Institute (KEITI).