เมื่อเศรษฐกิจในระบบเดิม คือการใช้ทรัพยากรในการผลิตแล้วทิ้ง (Take-Make-Dispose) มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปมีการคาดการณ์ไว้ว่าโลกอีกสองใบก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับวิถีชีวิตในแบบเดิม แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy จึงเริ่มเข้ามาแทนที่ในช่วงที่ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระใหญ่ของโลก และมันเกี่ยวข้องกับทุกแวดวงวิชาชีพ
Circular Economy เป็นระบบที่วางแผนและออกแบบมา โดยคำนึงถึงการหมุนเวียนทรัพยากรในการผลิต การคืนสภาพ หรือ สร้างคุณค่าใหม่ให้แก่วัสดุต่าง ๆ ในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ แทนที่จะทิ้งไป และเกิดเป็นขยะภายหลังการบริโภคจากแนวคิดนี้ยังส่งผลต่อวิถีของการใช้ชีวิต Circular Living ต่อมาแวดวงอุตสาหกรรมการก่อสร้างในปัจจุบันเองก็ให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และมีความพยายามในการสร้างสรรค์วัสดุไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุรีไซเคิล วัสดุจากธรรมชาติ หรือการพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ จากเทคโนโลยีชีวกาพการพึ่งพาพลังงานจากธรรมชาติมากขึ้น ตลอดจนแกระบวนการผลิตของวัสดุและงานก่อสร้างที่ใส่ใจต่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าไม่สร้างขยะเหลือทิ้ง และเน้นวงจรการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
แนวคิด Circular Living นอกจากจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราทุกคนในฐานะผู้บริโภคแล้วยังน่าจะส่งผลอย่างมากต่อบทบาทสถาปนิก และนักออกแบบของเราในฐานะผู้สร้างสรรค์ งานสถาปัตยกรรม และสิ่งปลูกสร้างในทศวรรษใหม่นี้ และทำให้วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่มีความเกี่ยวข้อง และควรมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากจำเป็นจะต้องใส่ใจต่อการออกแบบและเลือกใช้วัสดุในงานออกแบบที่ตอบสนองกับการสร้างวิถีชีวิตการอยู่อาศัยในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้เช่นกัน
Sustainable, Eco Friendly and Green Building Materials and the Circular Economy
บทความ 'What Is The Difference between Green and Sustainable?' จาก website www.worldatlas.com กล่าวถึงความแตกต่างของคำว่า Green และ Sustainable ว่ามีความแตกต่างในความใกล้เคียงกัน ทั้งสองคำชี้ให้ตระหนักและมีความรับผิดชอบในด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติ 'Green'เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับสุขภาพสิ่งแวดล้อม ส่วน 'Sustainable' เกี่ยวข้องกับสุขภาพสิ่งแวดล้อมความมีชีวิตทางด้านเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ทางสังคมซึ่งนักสิ่งแวดล้อมและนักการตลาดอาจทำให้เกิดความสับสน ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง 'Green' และ 'Sustainable' เกิดจากขอบเขตและขนาดของนโยบายและแนวปฏิบัติ
'Green' ไม่ได้เป็นเพียงสีเขียวอีกต่อไป แต่ยังเป็นคำที่ใช้บ่อยเพื่ออ้างถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมไปจนถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในงานสถาปัตยกรรมมีการเคลื่อนไหวสนับสนุนให้ผู้คนได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบ
'Green' หมายถึง ผลิตภัณฑ์หรือทระบวนการใด ๆ ที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังหมายถึงการติดตามและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในลักษณะที่สามารถตอบสนองความต้องการในอนาคตโดยไม่ต้องเสียสละความต้องการในปัจจุบัน ไปไกลกว่า Recycle และ Reuse โดยยังเกี่ยวข้องกับการลดจำนวนทรัพยากรที่ใช้ ตัวอย่างเช่น การปิดไฟทุกครั้งเมื่อออกจากห้อง การซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์อาคารแทนที่จะเปลี่ยน การแก้ไขก๊อกน้ำที่รั่ว เป็นต้น
'Sustainable' มีความหมายกว้างและรายละเอียดมากกว่า 'Green' โดยเกี่ยวข้องกับกิจกรรมมากมายที่ส่งเสริมความสามารถของคนรุ่นอนาคตในการตอบสนองความต้องการของพวกเขา ในขณะที่สีเขียวมุ่งเน้นไปที่ปัจจุบันและอนาคต ความยั่งยืนนั้นเกี่ยวข้องกับอนาคตมากกว่า เป็นความสามารถในการตอบสนองความต้องการในปัจจุบันโดยไม่กระทบต่อความสามารถของคนรุ่นอนาคตในการตอบสนองความต้องการของพวกเขา
'Sustainable เกี่ยวโยงถึงเรื่องสุขภาพสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความเท่าเทียมทางสังคม ดังนั้นจึงรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ การบริการ และกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างธรรมชาติและมนุษย์
ตัวอย่างของแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนคือการสร้างพื้นที่สีเขียวในการพัฒนาเมืองเพื่อส่งเสริมให้สัตว์ป่าอยู่อาศัยและจัดหากิจกรรมนันทนาการกลางแจ้งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ ตัวอย่างอื่น ๆ ได้แก่ การเกษตรแบบยั่งยืน เช่น การหมุนเวียนพืชผล ป่าไม้ที่ยั่งยืน และการทำประมงอย่างยั่งยืน
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง 'Green' และ 'Sustainable' คือ 'Green' เกี่ยวข้องกับด้านเดียวกับสุขภาพสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ 'Sustainable' เกี่ยวข้องกับทั้งระบบซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
แม้ว่า 'Sustainable' จะรวมถึง 'Green' แต่ 'Green' ไม่ได้หมายถึงความยั่งยืนโดย อัตโนมัติ มีผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบางอย่างที่ไม่ถือว่ายั่งยืน ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนถือเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียว แต่หากกระบวนการผลิตและการขนส่งของผลิตภัณฑ์ต้องใช้พลังงานที่มากขึ้น หรือไม่สามารถกำจัดได้อย่างถูกต้อง ผลิตภัณฑ์และกระบวนการทั้งหมดในการทำให้พร้อมใช้งานนั้นไม่ยั่งยืน
จนมาในวันนี้มีการพูดถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Living ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่าหลายองค์กรได้มีความพยายามในการจัดการในเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้กระจายออกสู่ตลาดและการใช้งาน บนพื้นฐาน 'Green' และ 'Sustainable"
ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (GREEN PRODUCTS)
Green Products หรือ Environmentally Friendly Products หรือ Eco Products เป็นนิยามที่ใช้กล่าวถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กระบวนการผลิต ( Process) กระบวนการใช้ (Usage) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับโลก ไม่เป็นอันตรายหรือทำลาย สิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ปล่อยมลพิษน้อยกว่า หรือไม่ปล่อยมลสาร
บทความ "Green Product ผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ แก้ไขวิกฤตขยะพลาสติกล้นประเทศ" ใน website officemate.co.th เดือน มีนาคม พ.ศ. 2563 โดย Wichaya Pongkam ให้ข้อมูลว่าขยะพลาสติกในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ.2562 ประทศไทยติดอันดับ 2 ในฐานะประเทศที่มีปริมาณขยะสูงสุดจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้งยังติดอันดับ 6 ในฐานะประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก เรามีการลดการใช้ถุงพลาสติกซึ่งช่วยลดขยะพลาสติกส่วนหนึ่ง แต่ยังมีขยะพลาสติกในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ขวดน้ำ หลอด แก้วน้ำ กล่องโฟม ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก หรือ Green Product เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเป็น Green Product ต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบซึ่งมีการลดปริมาณของเสีย (Reduce) นำมาใช้ช้ำได้ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycle) และซ่อมแซมได้ (Repair) แนวคิดของการเลือกใช้วัสดุตั้งต้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมระหว่างการใช้งาน รวมไปถึงสามารถกำจัดซากได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติโดยไม่ทิ้งสารเคมีหรือก่อให้เกิดมลภาวะในภายหลัง
กระบวนการผลิต Green Product ยังจะต้องไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือก่อให้เกิดมลภาวะ ขั้นตอนการผลิตต้องไม่ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงาน ไม่ปล่อยสารเคมีหรือปล่อยของเสียออกสู่ธรรมชาติ เช่น การผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก หรือการผลิตที่ไม่ปล่อยสารเคมีลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นตัน
Green Product ควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน สามารถนำกลับมาใช้ช้ำรวมถึงสามารถนำไป Recycle เพื่อทำผลิตภัณฑ์ชั้นใหม่ได้ Green Product ที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่หมุนเวียน ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อใช้งาน ยังถือเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable) ด้วย ตัวอย่างวัสดุใช้ในงานก่อสร้างเช่น ฉนวนเยื่อกระดาษ ไม้ธรรมชาติที่นำกลับมาใช้ใหม่ ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกหรือเหล็ก Recycle เป็นต้น
CIRCULAR LIVING กับจระเข้
'จระเข้' ผลิตภัณฑ์ด้านซีเมนต์เพื่องานก่อสร้างและดูแลบ้าน ภายใต้การคิดค้นของ บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ให้ความสำคัญในเรื่องอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ. 2561 นำเสนอ Crocodile GColor by GraphenStone สีแนวคิดใหม่ สีที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรมใหม่ที่สร้างจากธรรมชาติ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และเป็นรายแรกที่ได้รับมาตรฐาน Cradle to Cradle หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2562 ประกาศว่า 'ทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์จระเข้' ได้รับการรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มคะแนนการประเมินอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (LEED) และได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 17025 – 2548 แสดงให้เห็นว่าห้องปฏิบัติการมีการดำเนินงานด้านระบบคุณภาพ มีความสามารถทางวิชาการ ผลการทดสอบที่ออกจากห้องปฏิบัติการเป็นที่เชื่อถือได้และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ
จากการพูดคุยกับคุณธิติ ศรีรัตนา ผู้บริหารท่านหนึ่งของ 'จระเข้' ท่านยกคำกล่าวของนาย บัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ในงาน COPP22 ว่า 'There is no Plan B, because we do not have a Planet B' แปลความหมายได้ว่า ไม่มีแผนสำรอง เพราะเราไม่ได้มีโลกใบที่สอง นอกจากนั้นยังเปิดมุมมองในการทำธุรกิจโดยให้ความสำคัญในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบันวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในเมืองมีการขยายตัว ทรัพยากรต่างถูกใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือย และส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากขยะ ฝุ่นควัน มลพิษในอากาศ ขยะพลาสติก มลภาวะ และสารพิษตกค้างในแหล่งน้ำในดิน เช่น ไมโครพลาสติกโลหะหนัก สารพิษต่างไปสะสมอยู่ในสัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ชั้นล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร และสุดท้ายก็จะไปสะสมอยู่ในมนุษย์ "จระเข้' ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้า กระบวนการผลิต และการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ ให้ส่งผลกระทบต่อพนักงาน ชุมชนข้างเคียง สิ่งแวดล้อม ผู้ใช้งาน ให้น้อยที่สุด
แนวคิดในการพัฒนาสินค้า
ผลิตสินค้าโดยเน้นหลักการผลิตสินค้าที่ใช้ส่วนประกอบจากธรรมชาติ เช่น การนำหินปูนธรรมชาติมาผลิตเป็น Lime Paint และ Lime Mortar โดยยึดคุณค่าที่เชื่อมโยงกับการสร้างสมดุลในระบบนิเวศวิทยา ความยั่งยืนและผลิตผลิตภัณฑ์ที่เคารพต่อสิ่งแวดล้อมโดยปฏิบัติตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จนได้รับการรับรองมาตรฐาน Cradle to Cradle
โดยกระบวนการผลิตจะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน ออกให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมปูนขาวจากการเผาหินปูน ด้วยเชื้อเพลิงที่ทำจากวัสดุเหลือใช้จากพืช เช่น เปลือกไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ และเมล็ดพืชที่ถูกสกัดน้ำมันพืชไปใช้โดยก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้จะถูกดูดซับกลับไปด้วยพืชที่ปลูกในไร่บริเวณใกล้ๆ เตาเผา
เพื่อนำไปสังคราะห์แสง ออกดอก ออกผลกลับมาให้เราได้ใช้ประโยชน์ ปูนขาวที่ได้จะนำมาบ่มในน้ำได้เป็นปูนหมักที่เมื่อนำมาผลิตเป็นสินค้า จะมีคุณสมบัติในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าไป เพื่อทำให้สี หรือมอร์ตาร์ที่ผลิตจากปูนหมักนี้ เปลี่ยนสภาพจากของเหลวนิ่ม ให้กลับไปมีความแข็งแรงทนทานในรูปหินปูนอีกครั้งหนึ่ง สี หรือมอร์ตาร์ที่ทำจากหินปูนนี้ ยังมีคุณสมบัติช่วยระบายความชื้นออกจากผนังได้ดี ทำให้อุณหภูมิที่ผนังลดลง การใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคารเพื่อทำความเย็นก็ลดลง และเกิดสีลอกล่อนโป่งพองที่เกิดจากความชื้นไม่สามารถระบายออกจากฟิล์มสีก็ลดน้อยลงไป และเมื่อมีการรื้อตัวผนังออก สี หรือมอร์ตาร์ที่อยู่บนผนังที่เป็นหินปูนธรรมชาติก็จะกลับคืนสู่พื้นดินโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ในการลดขยะที่เกิดจากการทุบ รื้อ เพื่อปูกระเบื้องใหม่ก็สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากเศษกระเบื้องมีความแหลมคม ถ้าบริหารจัดการเศษวัสดุไม่ดีก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ การได้ตระหนักในปัญหาตรงนี้จึงผลิตสินค้ากาวซีเมนต์ชนิดปูทับไม่ต้องทุบ ผลิตภัณฑ์ที่มีแรงยึดเกาะสูง ปูได้กับหลากหลายวัสดุ ทนต่อการยืดหดตัวของพื้นผิวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างฉับพลันอันเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้กระเบื้องระเบิด หลุดล่อน
เนื่องจากว่ากระบวนการผลิตซีเมนต์นั้น ถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายอันดับต้นๆในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศในปริมาณที่สูงมาก เนื่องจากกระบวนการเผาหินปูนเพื่อทำปูนซีมนต์ใช้เชื้อเพลิงและพลังงานสูงมาก ดังนั้นจึงได้มีการนำปูนซีเมนต์ไฮบริดที่ใช้วัสดุทดแทนเม็ดปูน (Clinker) เข้ามาเป็นส่วนประกอบ มาใช้ในการผลิตสินค้าในกลุ่มกาวซีเมนต์เคมีภัณฑ์งานก่อสร้างที่เป็นเบสซีเมนต์ เพื่อช่วยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้า
ในการผลิตสินค้าที่มีซีเมนต์เป็นส่วนประกอบ ย่อมจะเกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย และฝุ่นเหล่านี้ก็สร้างปัญหาทางด้านสุขอนามัยให้กับคนที่อยู่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในสายงานผลิต ชาวบ้านที่อยู่รอบๆ โรงงาน ช่างที่ใช้วัสดุเหล่านี้ในการก่อสร้าง การได้ติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นปูนที่เกิดจากการผลิต และนำกลับไปใช้ในการผลิตสินค้า (Reuse) ช่วยลดการสร้างขยะ ไม่ปล่อยฝุ่นเหล่านี้ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่สร้างมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีการเติมสารลดฝุ่นลงไปในสินค้ากาวซีเมนต์ เพื่อให้มั่นใจว่าช่างที่ใช้งานจะได้รับผลกระทบจากการใช้งานผลิตภัณฑ์ให้น้อยที่สุด
การบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้
ในการจัดการสินค้าที่เริ่มแข็งตัว หมดอายุ เมื่อได้รับคืนจากลูกค้าหรือที่เหลือจากการพัฒนาสินค้า จะนำกลับมาใช้ซ้ำ (Recycle) ด้วยการนำมาผลิตเป็นแผ่นพื้นสำเร็จรูป เพื่อใช้ทำทางเดินในโรงงาน และมอบให้กับชุมชนที่ต้องการ เพื่อลดการสร้างขยะให้กับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
มีการนำแนวคิดในการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น ถุงปูนที่ผลิตมาไม่ได้ตามข้อกำหนด แต่ยังมีสภาพดี กลับมาผลิตเป็นถุงผ้า เป้ หรือย่ามใส่ของ หรือการนำขยะจากทะเล กลับมาผลิตเป็นของใช้ (Upcycling) เพื่อนำไปแจกให้กับลูกค้า ซึ่งแนวความคิดนี้ได้เริ่มมาได้ประมาณ 5 ปีแล้ว
Credit : Patikorn Na Songkhla, ASA Journal 2021.Nov-Dec