ปัจจุบันมีนวัตกรรมการก่อสร้างที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งมีปัจจัยต่าง ๆ รอบด้านเป็นตัวส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยให้ก่อสร้างอาคารได้อย่างรวดเร็ว การก่อสร้างที่คำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงอิทธิพลของโลกดิจิทัลที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมทุกรูปแบบ ร่วมพูดคุยกับคุณอนุพงศ์ ศิริอุดมเศรษฐ Chief Architect และ Managing Director จาก Oriental Studio เกี่ยวกับนวัตกรรมการก่อสร้างที่น่าสนใจในปี 2022 นี้
นวัตกรรมการก่อสร้างสมัยใหม่แบบใดที่น่าจับตามองในปี 2022?
ภาพ: การก่อสร้างแบบ 3D Printing
นวัตกรรมการก่อสร้างที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบันที่เริ่มเห็นบ้างแต่ยังมีสเกลไม่ใหญ่ คือ 3D Printing ซึ่งเป็นการก่อสร้างด้วยระบบการพิมพ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความถูกต้อง แม่นยำในการก่อสร้างให้มากยิ่งขึ้น สำหรับ 3D Printing ในช่วงนี้ยังคงเป็นอาคารสเกลเล็ก ๆ แต่ในอนาคตคาดว่าจะสามารถสร้างอาคารในสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้
“ด้วยกระบวนการก่อสร้างแบบนี้จะเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างพอสมควร เนื่องจากระบบก่อสร้างแบบเดิมยังไม่สามารถสร้างอาคารบางรูปทรง แต่ 3D Printing สามารถทำได้ โดยเฉพาะอาคารที่มีเส้นโค้ง หรือรูปแบบ 3 มิติ”
ในอดีต 3D Printing เป็นงาน 3 มิติ ที่ใช้สำหรับทำรองเท้า หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ขนาดเล็ก แล้วค่อย ๆ ถูกนำมาใช้ในงานก่อสร้าง แต่มีข้อจำกัดด้านวัสดุที่มีราคาค่อนข้างสูง ในต่างประเทศเริ่มมีการใช้เครื่อง 3D Printing ฉีดพ่นคอนกรีตหรือวัสดุผสมพิเศษบางตัว และสามารถปริ้นท์ออกมาในรูปแบบ 3 มิติได้
ปัจจุบันผู้จัดจำหน่ายบางรายในประเทศไทยเริ่มนำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้างดังกล่าวเข้ามา คาดการณ์ว่าในอนาคตการก่อสร้างแบบ 3D Printing อาจมีราคาถูกลงและแพร่หลายมากขึ้น จะช่วยให้งานเหมือนกับการออกแบบด้วยรูปทรงอิสระ (Free form) ในเครื่องคอมพิวเตอร์ หากใช้เทคโนโลยีแบบเก่าจะทำได้ค่อนข้างยาก
การก่อสร้างบ้านโดยใช้ระบบ 3D Printing อาจแพร่หลายในอีก 5 ปีข้างหน้า และมีแนวโน้มว่าจะถูกนำไปใช้กับงานก่อสร้างหลายแบบมากขึ้น ปัจจุบันด้วยข้อจำกัดเรื่องราคา กระบวนการ ผู้รับเหมาที่จะคุ้นเคยในการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ เมื่อราคาถูกลงความต้องการจะเพิ่มมากขึ้น เพราะก่อสร้างได้ในเวลาที่รวดเร็ว และถูกต้อง แม่นยำกว่าเดิม
นอกจาก 3D Printing ยังมีนวัตกรรมไหนที่น่าสนใจอีกบ้าง?
ภาพ: ของเสียที่เหลือจากการก่อสร้าง ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
“การก่อสร้างที่สอดคล้องกับ Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เลือกใช้วัสดุที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมทั้งระบบตั้งแต่ต้นจนจบ”
การก่อสร้างหรือการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมสอดคล้องกับยุคนี้จะเกี่ยวข้องกับ Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงวัสดุที่นำกลับมาใช้ได้ เป็นวัสดุที่ทิ้งของเสียไว้ในระบบอุตสาหกรรมน้อยมาก หรือวัสดุบางชนิดที่ตอบสนองแนวคิดหนึ่ง เช่น วัสดุที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ มีส่วนช่วยสร้าง Zero Carbon Consumption คือ ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างทั้งระบบ แนวโน้มจะไปทางนั้นมากขึ้น
เนื่องจาก Circular Economy ก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐพยายามผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้พัฒนาโครงการ ต่างพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นทิศทางที่เป็นสากล ในต่างประเทศเริ่มกันได้ระยะหนึ่งแล้ว สำหรับในประเทศไทยเพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งผู้คนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคยมากนัก
นวัตกรรมการก่อสร้างสมัยใหม่ส่งผลอย่างไรต่อเทรนด์การสร้างบ้านในปัจจุบัน?
ภาพ: อาคารไม้ไผ่ร้าน Bamboo ใหญ่สุวินทวงศ์
ภาพ: อาคารไม้ไผ่ร้าน Bamboo ใหญ่สุวินทวงศ์
ปัจจุบันเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป การนำวัสดุที่เดิม ผู้คนคิดว่าไม่คงทนแล้ว เช่น ไม้ มาประกอบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็สามารถนำมาใช้ก่อสร้างเป็น Timber Structure (โครงสร้างไม้) ได้ โดยไม่จำกัดแค่การใช้เป็นของตกแต่ง และยั่งยืนมากขึ้น
เพราะเป็นไม้จากป่าปลูกทดแทนที่ผ่านกรรมวิธี ไม่ติดไฟ ไม่ลามไฟ และแข็งแรง ด้วยนวัตกรรมที่ใส่เข้าไปก็ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ใช้กับตึกสูงได้ ไม่จำกัดแค่เพียงบ้านเท่านั้น เทรนด์นี้จะเป็นเทรนด์ที่เห็นกันได้มากขึ้น
อีกหนึ่งเทรนด์ที่เห็นกันมากขึ้น คือ การใช้ไม้ไผ่ ตอนนี้ก็มีผู้รับเหมาและผู้ออกแบบหลายรายเริ่มใช้ไม้ไผ่กันมากขึ้น ต่างประเทศก็เริ่มใช้กันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะถือเป็นวัสดุเพื่อความยั่งยืนอย่างหนึ่งได้เช่นกัน
Digital Disruption ส่งผลอย่างไรต่อการสร้างนวัตกรรมก่อสร้าง?
ภาพ: ผู้คนนิยมใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริงมากขึ้น
Digital Disruption สำหรับบางธุรกิจที่ถูก Disrupt ตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ ก็จะเป็นธุรกิจหนังสือที่คอนเทนต์ย้ายไปอยู่ในหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหมดแล้ว “แต่สำหรับธุรกิจก่อสร้างยังคงมีปราการกั้นขวางไว้พอสมควร
เพราะการก่อสร้างเป็นสิ่งที่ Digital มา Disrupt ไปเลยไม่ได้ เพียงแต่ว่ารุกคืบเข้ามา แต่ผู้คนยังมีเวลาปรับตัว เพราะสิ่งก่อสร้างจริงยังคงจำเป็นอยู่”
แต่ส่วนหนึ่งที่มาแรงคงเป็นโลกเสมือนจริง ผู้คนใช้ชีวิตในโลกเสมือนมากขึ้น ในโลกความเป็นจริง งานก่อสร้างบางประเภทอาจน้อยลง เช่น สิ่งก่อสร้างด้านความบันเทิง เพราะผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลกันมากขึ้น เล่นเกมมากขึ้น แต่บางธุรกิจก็ยังคงอยู่ได้ เช่น บ้าน เพราะผู้คนยังต้องการบ้านเพื่อการอยู่อาศัย แต่สิ่งก่อสร้างบางประเภทอาจจะน้อยลง
ต้องดูว่า Digital จะมา Disrupt งานก่อสร้างหรือไม่ คงต้องพิจารณาเป็นรายหมวด จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในลักษณะหน้ามือเป็นหลังมือแบบธุรกิจหนังสือ หรือธุรกิจบันเทิง เช่น ธุรกิจบันเทิงบางรูปแบบอาจหายไปเลยจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ธุรกิจก่อสร้างยังคงอยู่ เพียงแค่ชะลอตัวลงในช่วงปีแรกของโควิด-19 แต่ในช่วงปีที่ 2 แทบจะกลับมาเป็นปกติ เมื่อมาถึงช่วงปีนี้งานก่อสร้างเรียกได้ว่ากลับมาเฟื่องฟูมาก
ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนานวัตกรรมการก่อสร้างสมัยใหม่?
ภาพ: การสร้างบ้านด้วยวัสดุและรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นเกี่ยวกับ Circular Economy ที่ไม่ได้พูดถึงแค่การรียูส (Reuse) หรือรีไซเคิล (Recycle) แบบเดิมอีกต่อไป เพราะคำนึงถึงการทำงานทั้งระบบตั้งแต่ต้นจนจบให้เหลือของเสียน้อยที่สุด ซึ่งหากทำได้จริงจะส่งผลดีเป็นอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม
เพราะแต่เดิมกระบวนการการผลิตวัสดุก่อสร้าง ระบบการก่อสร้าง ไปจนถึงการทุบทำลายอาคาร จะทิ้งของเสียไว้ในระบบเป็นจำนวนมาก หากทำได้จริงของเสียในกระบวนการก่อสร้างก็จะต่ำลง เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการให้ของเสียในระบบตนเองเป็นศูนย์ เมื่อตึกถูกทำลายแล้วก็นำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้
การสร้าง Circular Economy ต้องคำนึงถึงตั้งแต่การผลิตวัสดุที่จะต้องใช้พลังงานน้อย เหลือเศษทิ้งน้อย หรือแม้แต่วัสดุบางประเภทที่นำมาใช้กันมากในปัจจุบัน เช่น แผ่นหลังคา ผนังที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ไปจนถึงกระจกโซล่าเซลล์ ซึ่งเป็นกระจกใสปกติ แต่ว่าผลิตไฟฟ้าจ่ายพลังงานให้กับตัวบ้านได้
วัสดุเหล่านี้ก็จะส่งผลในอนาคต จากเดิมที่คิดถึงแต่เพียงการออกแบบรูปทรงหลังคาให้สวยงาม ก็จะกลายเป็นหลังคาทรงไหนที่จะรับพลังงานได้ดีที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมไปจนถึงการออกแบบโดยรวม เช่น การออกแบบบ้านให้รับกับทิศตะวันตกเพื่อให้รับพลังงานได้มากขึ้น ต่างจากในอดีตที่ผู้คนมักจะหลีกเลี่ยงทิศตะวันตก
วัสดุบางชนิดก็อาจทำหน้าที่มากกว่าการเป็นฉนวนกันความร้อน แต่ยังผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับอาคารได้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นการรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยลง เพราะไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ เพื่อรองรับบ้านใหม่ ๆ เพราะบ้านรูปแบบใหม่สามารถสร้างพลังงานในตัวได้ ซึ่งจะยั่งยืนมากขึ้น
การก่อสร้างปัจจุบันแตกต่างจากเดิมอย่างไรบ้าง?
ภาพ: การดูเลือกชมแบบบ้านทำได้ง่ายขึ้น
สมัยก่อนบ้านที่อยู่อาศัยมักมีรูปแบบเหมือน ๆ กัน สังเกตได้จากในยุคโบราณการปลูกบ้านของหมู่บ้านแต่ละแห่ง จะมีรูปแบบ วัสดุและเทคนิคเดียวกัน เพราะเป็นการก่อสร้างกันเองโดยคนในหมู่บ้าน แต่เมื่อถึงยุคที่เริ่มมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างชุมชน ไปจนถึงระหว่างประเทศ ทำให้มีการรับเอาศิลปะและวัฒนธรรมจากภูมิภาคอื่นมาปรับใช้ จึงได้เห็นรูปแบบงานสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยที่หลากหลายมากขึ้นจากยุคก่อน เห็นได้ว่าสมัยก่อน กระบวนการแพร่กระจายทางศิลปะวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเดินทาง ค้าขายเป็นหลัก
แต่ในปัจจุบันนี้ บริษัทระดับโลกสามารถออกแบบงานแล้วกดแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ก็จะได้เห็นพร้อมกันทั้งโลก บางเว็บไซต์แชร์อุตสาหกรรมแบบใหม่ได้เห็นพร้อมกันทั้งโลก ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะบางคนอาจจะชอบรูปแบบเดียวกันทั้งโลก หรือบางคนก็เลือกแนวทางที่ตนเองชอบได้ และหลากหลายมากขึ้น ลูกค้าปัจจุบันเองก็เก่งไม่แพ้ดีไซน์เนอร์ เพราะได้เห็นรูปแบบแปลกใหม่ มีการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านดีไซน์ง่ายมากขึ้นทำให้มีความละเอียดอ่อนในการ เลือกออกแบบให้ตรงใจมากขึ้น
“เทรนด์การออกแบบบ้านในยุคนี้จึงหลากหลายมาก ไม่มีใครเหมือนกันเลย สมัยก่อนถ้าจะมองแบบใกล้ตัวในบ้านเราก็แบ่งรูปแบบบ้านตามโซนต่าง ๆ เช่น บ้านแบบภาคเหนือ บ้านแบบภาคใต้ แต่ตอนนี้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็เลือกบ้านแบบที่ชอบได้ การออกแบบบ้านในอดีตกับปัจจุบันจึงแตกต่างกันเป็นอย่างมาก”
โดยวัสดุก่อสร้างและเทคนิคการก่อสร้างมีผลที่ทำให้รูปแบบบ้านออกมาคล้าย ๆ กัน เพราะสร้างด้วยรูปแบบ เทคนิค เสาคานแบบเดียวกัน ก็จะได้บ้านที่หน้าตาคล้าย ๆ กัน ไปจนถึงหลังคาหรือวัสดุกรุผนัง แต่ว่าปัจจุบันก็มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ 3D Printing มาถึง ส่งผลให้รูปแบบบ้านที่ได้ก็จะยิ่งแตกต่างมากขึ้นด้วย เพราะทุกคนต่างก็มีความต้องการของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งถือเป็นข้อดีเพราะทำให้เกิดงานที่แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา คนยุคใหม่เองก็นิยมความสดใหม่และแตกต่าง ส่งผลให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา
คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าปี 2022 นี้จะมีนวัตกรรมการก่อสร้างใดบ้างที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างแบบ 3D Printing ที่ช่วยให้ออกแบบได้ตามดีไซน์ที่ต้องการ การเลือก่อสร้างที่เหลือของเสียไว้ในระบบน้อยที่สุดตั้งแต่ต้นจนจบ ไปจนถึงการออกแบบบ้านในสไตล์ใหม่ ๆ ที่ทั้งสวยงาม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับการอยู่อาศัยไปพร้อมกับการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ภาพ: คุณอนุพงศ์ ศิริอุดมเศรษฐ
คุณอนุพงศ์ ศิริอุดมเศรษฐ
- Chief Architect และ Managing Director จาก Oriental Studio
- ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และคณะกรรมการสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี
- อาจารย์พิเศษ ภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง