- โครงสร้างส่วนล่างสุดของบ้านอย่างคานคอดิน เป็นส่วนประกอบที่รองรับน้ำหนักของบ้านทั้งหลังต่อจากเสาและคาน จึงต้องก่อสร้างออกมาให้แข็งแรง ทนทานมากที่สุด เพื่อให้บ้านมั่นคง แข็งแรง
- การเลือกประเภทคานคอดินนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จะสร้างบ้าน โดยคานคอดินมีให้เลือกทั้งแบบวางบนระดับพื้นดิน และอยู่สูงกว่าระดับพื้นดิน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพื้นที่สูงหรือต่ำ
คานคอดิน คืออีกหนึ่งส่วนประกอบของโครงสร้างบ้าน ที่รับน้ำหนักบ้านทั้งหลังต่อจากเสาและคาน โดยการทำคานคอดินจะต้องพิจารณาจากพื้นที่ที่จะสร้างบ้าน ว่าอยู่ในระดับความสูงที่เหมาะกับคานประเภทไหน เพื่อให้โครงสร้างของบ้านมั่นคง แข็งแรงยิ่งขึ้น และเพื่อให้เข้าใจถึงส่วนประกอบสำคัญนี้ จระเข้ก็มีความรู้ดี ๆ มาฝากกัน เพื่อช่วยให้ทุกคนเข้าถึงโครงสร้างรับน้ำหนักส่วนนี้กันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ ประเภท และวิธีการก่อสร้างเบื้องต้น
คานคอดินคืออะไร?
ภาพ: คานคอดิน
คานคอดิน (Ground Beam) มีชื่อเรียกอื่นว่าคานพื้นชั้นหนึ่ง หรือคานพื้นชั้นล่าง คือ ส่วนโครงสร้างบ้านที่อยู่ด้านล่างระบบพื้น ติดตั้งอยู่เหนือเสาเข็ม ฐานราก และเสาตอม่อ การทำคานคอดินจะช่วยถ่ายเทน้ำหนักของตัวบ้านไปยังฐานรากและตอม่อ ให้ได้ระดับที่สมดุลกันพอดี ช่วยรับน้ำหนักทั้งตัวอาคาร และน้ำหนักที่จะเกิดขึ้นจากการใช้อาคารอีกด้วย
คานคอดินมีกี่แบบ?
ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าคานคอดิน แต่โครงสร้างส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกับพื้นดินเสมอไป โดยแบ่งการทำคานคอดินออกได้เป็น 2 แบบได้แก่ แบบวางบนดิน และแบบที่อยู่สูงเหนือระดับดิน ซึ่งมีความแตกต่างกันดังต่อไปนี้
1. คานคอดินวางบนระดับพื้นดิน
ภาพ: การทำคานคอดินบนระดับพื้นดิน
คานคอดินวางบนระดับพื้นดิน คือการทำคานคอดินให้อยู่สูงจากระดับพื้นดินไม่มากนัก หรืออยู่สูงจากระดับพื้นประมาณ 1 เมตร เหมาะสำหรับโครงสร้างบ้านหรืออาคารที่อยู่อาศัยทั่วไป การก่อสร้างในลักษณะนี้จะต้องทำเนินดินให้สูงเท่ากับท้องคานเสียก่อน จากนั้นจึงเทลีน (Lean) ซึ่งเป็นการเทคอนกรีตปรับผิวหน้าดินให้เรียบ ใช้สำหรับรองรับการผูกเหล็กและรองรับการหล่อแบบ โดยคานคอดินประเภทนี้จะใช้ไม้แบบเพียงสองด้านคือซ้ายและขวา ไม่จำเป็นต้องใช้ไม้แบบที่ด้านล่าง
2. คานคอดินอยู่สูงจากระดับพื้นดิน
ภาพ: คานคอดินอยู่สูงจากระดับพื้นดิน
คานคอดินอยู่สูงจากระดับพื้นดิน คือการทำคานคอดินให้อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร แต่ไม่เกิน 1.5 เมตร ระดับท้องคานจะอยู่สูงจากพื้นดินค่อนข้างมาก ทำให้ต้องใช้ไม้แบบหล่อท้องคานด้วย ส่งผลให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมากยิ่งขึ้น คานคอดินประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับตึกสูง หรือบ้านที่สร้างในจุดที่อยู่ต่ำกว่าพื้นถนน
นอกจากนี้หากพื้นที่ที่สร้างอาคารอยู่ต่ำกว่าระดับถนนค่อนข้างมาก จะต้องทำคานคอดินให้สูงจากพื้นดิน 1.5 เมตร ส่งผลให้ต้องทำคาน 2 ชั้น เพราะหากทำเพียงชั้นเดียว จะมีผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารได้ โดยพื้นที่ด้านล่างสามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องเก็บของหรือชั้นใต้ถุนได้
วิธีการทำคานคอดิน
ภาพ: การเทลีนสำหรับทำคานคอดิน
- เทลีน เริ่มต้นการทำคานคอดินด้วยการปรับหน้าดินและเทลีน โดยใช้คอนกรีตผสมหยาบเทปรับหน้าดินประมาณ 5-10 เซนติเมตร โดยการเทลีนจะช่วยให้ผูกเหล็กเพื่อทำโครงสร้างที่ติดกับพื้นดินได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะช่วยรักษาระดับของเหล็กเสริมได้สะดวกขึ้น ไม่เสียรูปหรือจมดิน
- เตรียมไม้แบบ หลังจากเทลีนแล้วก็เป็นขั้นตอนเตรียมไม้แบบสำหรับทำคานคอดิน ควรเลือกวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ผิวเรียบ ไม่บิด แตก หรือหักงอ เช่น ไม้
- เชื่อมพื้นที่คาน นำเหล็กหนวดกุ้งวางในพื้นที่ช่องว่างระหว่างคาน โดยกะระยะให้อยู่ในระดับพอดี โดยเหล็กส่วนนี้จะช่วยเชื่อมคานและพื้นให้เป็นส่วนเดียวกัน
- เทคอนกรีตและแกะแบบหล่อ หลังจากเทคอนกรีตตามแบบหล่อที่ประกอบขึ้น และบ่มคอนกรีตเรียบร้อยแล้ว จึงค่อยแกะแบบหล่อออก และสำรวจระดับคานว่าตรงตามที่กำหนดหรือไม่
- ตรวจสอบการทำคานคอดิน หลังจากเทคานคอดินเรียบร้อยแล้ว ควรตรวจดูว่ามีร่องรอยแตกร้าวเสียหายหรือไม่ และควรปล่อยให้คอนกรีตเซ็ตตัวประมาณ 7 วัน และตรวจสอบความแข็งแรงอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนเริ่มทำโครงสร้างอื่น ๆ ต่อไป
ภาพ: น้ำยาบ่มคอนกรีตจระเข้ แอดมิค เคียว
นอกจากการทำคานคอดินให้เหมาะกับพื้นที่ที่จะสร้างบ้านแล้ว ขั้นตอนบ่มคอนกรีตก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพื่อให้เนื้อคอนกรีตแข็งแกร่ง ไม่หดตัวหรือแตกร้าว ควรเสริมขั้นตอนการผสมคอนกรีตด้วยน้ำยาบ่มคอนกรีตจระเข้ แอดมิค เคียว น้ำยาบ่มชนิด Sodium Silicate ที่ก่อตัวเป็นผิวฟิล์มเคลือบ ช่วยเคลือบผิวหน้าคอนกรีต ป้องกันการระเหยของน้ำเร็วเกินไป ทำให้ปฏิกิริยาเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ช่วยให้โครงสร้างชั้นล่างสุดอย่างคานคอดิน แข็งแรง แกร่ง พร้อมรับน้ำหนักบ้านได้อย่างเต็มที่