ประเด็นสำคัญ
- การเดินสายไฟในบ้านเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนให้ดี เพราะเป็นการกระจายไฟฟ้าไปยังจุดต่าง ๆ ของบ้าน ทำให้ใช้งานได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น โดยควรจะรู้จักสายไฟแบบต่าง ๆ ไว้ก่อน เพื่อให้เลือกได้เหมาะสม
- การเลือกเดินสายไฟมีให้เลือกทั้งแบบลอยที่จะเดินตามผนังและเพดาน ซึ่งจะดูแลรักษา ซ่อมแซมง่าย และการเดินสายไฟแบบฝังที่จะเก็บไว้ในโครงคร่าว ทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตกแต่งบ้านได้ง่ายขึ้น
การเดินสายไฟในบ้านเป็นขั้นตอนสำคัญ ที่หลายคนมักมองข้ามเมื่อสร้างหรือรีโนเวทบ้านใหม่ ทั้งที่จริง ๆ แล้วการเดินสายไฟอย่างถูกต้อง จะช่วยให้ครอบครัวปลอดภัยจากอันตราย ไม่ว่าจะเป็นไฟช็อต ไฟลัดวงจรที่อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ วันนี้จระเข้เลยมีความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการเดินสายไฟมาฝากกัน ว่าควรจะเลือกสายไฟแบบไหน และติดตั้งแบบไหนดี
การเดินสายไฟ คืออะไร สำคัญอย่างไร?
“การวางระบบสายไฟไปตามจุดต่าง ๆ”
การเดินสายไฟ คือ การวางระบบสายไฟฟ้าภายในบ้าน เพื่อให้ไฟฟ้าไปสู่ทุกจุดที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟ ปลั๊กไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ โดยการเดินสายไฟที่ถูกต้องไม่เพียงแค่ช่วยให้บ้านใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตและทรัพย์สินได้
ประเภทสายไฟที่ควรรู้จักกันไว้ก่อน
1. สายไฟแบบ THW
“ใช้กับบ้านทั่วไป ทนทานดีระดับหนึ่ง”
สายไฟ THW เป็นสายไฟที่มีตัวนำเป็นเส้นเดียว ผลิตจากทองแดงหรืออลูมิเนียมหุ้มด้วยฉนวน PVC ทนทานต่อการกัดกร่อนและความชื้นในระดับหนึ่ง และทนแรงดันไฟฟ้าได้สูงถึง 750 โวลต์ ส่วนใหญ่จะใช้สายที่ทำจากทองแดงเพราะทนทานและนำไฟฟ้าได้ดีกว่า เหมาะสำหรับการเดินสายไฟในท่อร้อยสาย เดินใต้ฝ้าเพดาน หรือในผนัง รองรับการใช้งานไฟฟ้าแรงดันสูงได้อย่างปลอดภัย
เหมาะกับ: บ้านหรืออาคารต่างๆ รวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบไฟฟ้า 3 เฟส
2. สายไฟแบบ VAF
“เหมาะกับบ้านทั่วไป แต่ฝังลงดินไม่ได้”
สาย VAF มีลักษณะเป็นสายแบน และประกอบด้วยสายตัวนำไฟฟ้า ที่ทำจากทองแดง 2 แกนหรือ 3 แกน แต่ละแกนมีฉนวนหุ้มด้วย PVC และยังมีเปลือก PVC ครอบป้องกันภายนอกอีกชั้นหนึ่ง จะช่วยป้องกันความเสียหายจากการใช้งานเบื้องต้นได้ดี แต่ไม่สามารถใช้เดินสายภายนอกหรือฝังลงดินได้ เพราะไม่ทนต่อความชื้นและแรงกดจากดิน จึงเหมาะกับเดินแบบลอยในพื้นที่ที่ไม่สัมผัสกับความชื้น
เหมาะกับ: การเดินสายไฟแบบลอยภายในบ้าน หรืออาคารที่ใช้งานทั่วไป
3. สายไฟแบบ VCT
“เหมาะกับใช้ภายนอกบ้าน ปั๊มน้ำหรือเครื่องซักผ้า”
สาย VCT เป็นสายไฟที่ยืดหยุ่นสูง เหมาะสำหรับงานที่ต้องทนต่อการเคลื่อนไหวหรือสั่นสะเทือน ตัวนำของสาย VCT เป็นสายทองแดงฝอยขนาดเล็กที่มัดรวมกันเป็นแกน มีให้เลือกตั้งแต่ 1 แกนถึง 4 แกน มีฉนวนหุ้มหลายชั้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน ทนแรงดันไฟฟ้าได้สูงถึง 750 โวลต์ และทนอุณหภูมิในการใช้งานได้ถึง 70 องศาเซลเซียส
เหมาะกับ: ปั๊มน้ำ เครื่องซักผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ภายนอกอาคาร แต่ไม่ควรเป็นจุดที่ร้อนมาก หรือต้องเจอแรงกด
4. สายไฟแบบ NYY
“เหมาะกับงานภายนอกโดยเฉพาะหรืองานฝังดิน”
สาย NYY เป็นสายไฟที่โดดเด่นในเรื่องความทนทาน มีฉนวน 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นฉนวน PVC หุ้มตัวนำภายใน ส่วนชั้นนอกเป็นเปลือกหุ้มอีกชั้น เพื่อป้องกันความชื้นและแรงกระแทก กดทับต่าง ๆ ตัวนำไฟฟ้าภายในทำจากทองแดงแข็ง มีให้เลือกทั้งชนิดแกนเดียวและหลายแกน ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาน
เหมาะกับ: งานเดินสายไฟภายนอกอาคาร งานฝังลงดินโดยตรงโดยไม่ต้องร้อยท่อ
5. สายไฟแบบ IEC 10
“เหมาะกับเดินสายไฟใต้เพดานหรือในผนัง”
สาย IEC 10 หรือสายไฟแบนที่ออกแบบมาให้ใช้งานในพื้นที่จำกัดโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งใต้ฝ้าเพดานและในผนัง ตัวนำไฟฟ้าภายในทำจากทองแดงฝอย มีให้เลือกตั้งแต่ 2-4 แกน ฉนวนหุ้ม PVC รองรับแรงดันไฟฟ้าได้ปานกลาง 300-500 โวลต์ แต่จะไม่แข็งแรงพอถ้าจะใช้เดินสายลงดิน
เหมาะกับ: งานเดินสายไฟภายในบ้านหรืออาคารที่ต้องการความยืดหยุ่น เช่น ใต้ฝ้าหรือหรือในผนัง
รู้จักกับสายไฟประเภทต่าง ๆ กันไปมากขึ้นแล้ว ก็ถึงเวลามาดูกันแล้วว่าการเดินสายไฟจะมีให้เลือกกี่รูปแบบ ต่างกันอย่างไรบ้าง พร้อมแล้วตามจระเข้ไปดูกันได้เลย!
การเดินสายไฟมีกี่แบบ?
1. การเดินสายไฟแบบลอย
"ติดตั้งง่าย ไม่ซับซ้อน ซ่อมแซมสบาย"
บ้านไหนอยากเดินสายไฟแบบง่าย ๆ ไม่ต้องวางแผนยุ่งยาก ควรเลือกติดแบบลอย ซึ่งจะติดตั้งสายไฟบนผนังหรือเพดาน โดยจะใช้กิ๊บรัดสายไฟ หรือจะเลือกแบบท่อหรือรางครอบสายไฟก็ได้เหมือนกัน เหมาะกับพื้นที่ที่อยู่ห่างจากความชื้น ไม่ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกมากนัก จะได้ดูแลได้สะดวกมากขึ้น
เดินสายไฟแบบนี้ดีอย่างไร?
- ติดตั้งง่ายโดยไม่ต้องทุบโครงสร้าง ใช้เวลาติดตั้งน้อยลง
- หากเกิดปัญหากับระบบไฟฟ้า ก็ซ่อมแซมได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาทุบ
- ออกแบบได้ไม่ยุ่งยาก เหมาะกับปรับปรุงระบบไฟในบ้านเก่า เพราะไม่ต้องรื้อถอน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
ข้อควรระวัง: ต้องหมั่นดูแลรักษาเป็นประจำ เพราะอาจเกิดความเสียหายจากสภาพแวดล้อม และเพื่อความปลอดภัยควรจะจัดวางแผนสายไฟให้เป็นระเบียบ ไม่ให้แออัดมากเกินไป
2. การเดินสายไฟแบบฝัง
"เป็นระเบียบ ปลอดภัย ไม่รกสายตา"
บ้านไหนเน้นการตกแต่งเนี๊ยบเป๊ะ ไม่อยากให้มีสายไฟมารบกวนสายตา ควรเลือกการเดินสายไฟในบ้านแบบฝัง เพราะสายไฟจะถูกฝังไว้ในผนังหรือเพดาน โดยจะใส่ไว้ระหว่างโครงคร่าว แล้วค่อยปิดผนังหรือเพดาน ทำให้บ้านดูเรียบร้อย ออกแบบตกแต่งเพิ่มเติมตามใจได้ง่ายขึ้น โดยจะต้องวางแผนการเดินสายไฟให้ดี เพราะทำแล้วจะมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก หากต้องการเปลี่ยนแปลงภายหลัง
เดินสายไฟแบบนี้ดีอย่างไร?
- ภาพรวมของบ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีสายไฟรบกวนสายตา
- ลดโอกาสเกิดไฟฟ้าลัดวงจร เพราะสายไฟเสี่ยงต่อความเสียหายน้อยกว่า
- เหมาะกับบ้านสไตล์โมเดิร์นที่อยากออกแบบบ้านให้เป็นระเบียบ
ข้อควรระวัง: การเดินสายไฟแบบนี้จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือซ่อมแซมได้ยากกว่า และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะต้องรื้อผนัง และจะต้องวางแผนให้เหมาะสมกับการออกแบบตั้งแต่แรก
อยากประหยัดไฟด้วยโซลาร์เซลล์ต้องตามไปดูกันต่อ!
นอกจากเรื่องการเดินสายไฟให้เหมาะสมและปลอดภัย ใครกำลังสนใจอยากจะติดโซลาร์เซลล์ที่บ้านเพื่อประหยัดไฟกว่าเดิม ก็ควรจะรู้จักกับข้อมูลทั่วไปก่อนติดตั้งก่อน ไม่ว่าจะเป็นระบบและประเภท ไปจนถึงเรื่องอื่น ๆ ใครอยากรู้มากกว่านี้ จระเข้มีความรู้ดี ๆ มาให้ดูกันต่อแล้ว 7 สิ่งที่ควรรู้ก่อนติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน
ซ่อมแซมโครงสร้างก่อนเดินสายไฟใหม่ต้อง จระเข้ อะคริลิก แพทช์
บ้านไหนอยู่ระหว่างก่อสร้าง กำลังวางแผนเดินสายไฟในบ้าน ถ้าเจอปัญหารอยแตกร้าวต่าง ๆ อย่าลืมซ่อมแซมให้เรียบร้อย ก่อนเริ่มติดตั้งสายไฟ เพื่อความปลอดภัย และใช้งานได้เต็มที่ มองหาตัวช่วยซ่อมแซมโครงสร้าง ต้องมาดู จระเข้ อะคริลิก แพทช์ ซีเมนต์ที่ใช้สำหรับซ่อมแซม หรือตกแต่งพื้นผิวโดยเฉพาะ เหมาะกับผนัง คอนกรีต เสา มาพร้อมคุณสมบัติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- ซ่อมโครงสร้างที่มีความหนา 13-50 มม.
- ป้องกันการขูดขีด ให้กำลังอัดสูงมากกว่า 360 ksc
- ยึดเกาะดีรับแรงดัด แรงดึงได้สูง
- แห้งเร็ว เปิดใช้งานได้เร็ว
ชมรายละเอียด จระเข้ อะคริลิก แพทช์ สั่งซื้อจระเข้ อะคริลิก แพทช์
อยากได้ผลิตภัณฑ์จระเข้มาดูแลบ้าน ลองเข้าไปหาตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์กันได้ที่เว็บไซต์จระเข้ เพียงเลือกภูมิภาค จังหวัด และเขตหรืออำเภอ เพียงเท่านี้ก็จะรู้แล้วว่าร้านค้าแถวบ้านร้านไหนที่มีสินค้าคุณภาพรออยู่ หรือจะลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของเราดูก่อนก็ได้ ว่าจะเลือกผลิตภัณฑ์แบบไหนดี ให้ตอบโจทย์บ้านของเรามากที่สุด