ประเด็นสำคัญ
- การตกแต่งห้องครัวจะต้องออกแบบครัวให้อยู่ในทิศทาง ตำแหน่งที่เหมาะสม แบ่งโซนใช้งานให้ครบถ้วน เพื่อให้หยิบอุปกรณ์มาใช้งานได้สะดวก ควรเลือกแบบเคาน์เตอร์ที่เข้ากับห้อง ใช้วัสดุท็อปที่ทำความสะอาดง่ายเพื่อให้ทำอาหารได้สบายที่สุด
- นอกจากส่วนประกอบหลักของการจัดตกแต่งห้องครัว โครงสร้างใหญ่อย่างพื้น เพดาน ผนัง และรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างปลั๊กไฟ ชั้นตู้เก็บของ ส่วนที่วางเตา ก็ควรจะออกแบบให้อยู่ในระยะที่ใช้งานง่าย เพื่อให้เราใช้ห้องครัวได้เต็มประสิทธิภาพทุกจุด
สำหรับสายทำอาหาร ชอบรังสรรค์เมนูใหม่ ๆ ให้ทั้งตัวเองและคนในครอบครัว ห้องครัวนี่แทบจะเป็นห้องที่สำคัญกว่าห้องอื่น ๆ ในบ้านเลยด้วยซ้ำ ได้ทำอาหารแบบเพลิน ๆ ทำความสะอาดสบาย ๆ ทำให้การตกแต่งห้องครัวให้ใช้งานได้สะดวกเลยเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ต้องกลัวเรื่องกลิ่นเหม็นตลบอบอวลไปทั่วบ้าน ป้องกันสัตว์ไม่ได้รับเชิญมาเยี่ยมถึงบ้าน แล้วเราควรจะเลือกส่วนต่าง ๆ อย่างไรบ้างนั้น ไปดู 10 ทริคการจัดตกแต่งห้องครัวที่จระเข้นำมาฝากกันในวันนี้ได้เลย!
10 ทริคการตกแต่งห้องครัวให้สวย พร้อมทำอาหารได้แบบเต็มที่
1. ทิศทางห้องครัวต้องเหมาะสม พร้อมรับแสงเข้าและระบายอากาศออก
ภาพ: ห้องครัวรับแสงเพียงพอ
“ทิศตะวันออกหรือทิศใต้ ห้องครัวจะได้รับแสงได้ทั้งวัน”
ตั้งห้องครัวไว้ทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้ เพราะการตกแต่งห้องครัวไว้ทางทิศตะวันออกเป็นทิศที่ได้รับแสงเช้า ซึ่งเป็นแสงสว่างและความร้อนในระดับที่พอดี ไม่ร้อนเกินไป ส่วนทิศใต้ก็เป็นทิศที่ลมพัดผ่านตลอด ถ้าเป็นห้องครัวที่มีหน้าต่าง ก็จะช่วยระบายอากาศได้ดีกว่าเดิม
หลีกเลี่ยงการตั้งห้องครัวไว้ตรงมุมอับ เพราะนอกจากจะมืดทึบแล้ว อาจจะทำให้กลิ่นไม่พึงประสงค์รวมตัวกันอยู่ในครัว จนเหม็นไปทั่วทั้งบ้านได้
2. ตำแหน่งห้องครัวดูให้ดีอย่าให้อยู่ตรงกับห้องนอนหรือห้องทำงาน
ภาพ: ห้องครัวควรอยู่แยกจากห้องอื่น
“ตำแหน่งครัวอย่าให้ตรงกับมุมสงบ เดี๋ยวกลิ่นอาหารไปรบกวน”
ห้องครัวไม่ควรอยู่ตรงกับห้องนอนชั้นบนและห้องทำงานเป็นอันขาด เพราะทั้งกลิ่นและเสียงดังขณะที่เราทำอาหาร อาจจะไปรบกวนการพักผ่อน หรือรบกวนการทำงานได้ แถมยังมีโอกาสที่กลิ่นจะติดอยู่ในห้อง แทนที่จะเป็นห้องแสนสงบเหมาะกับการพักผ่อนและทำงาน อาจจะทำให้เราใช้งานไม่สะดวก อารมณ์เสียกันไปหมดทั้งบ้าน
3. แบ่งโซนให้เรียบร้อย A-B-C ต้องอย่าให้ขาด
ภาพ: ห้องครัวที่มีส่วนประกอบครบถ้วน
“A เก็บของ B ทำความสะอาด C ปรุงอาหาร 3 โซนนี้ทุกครัวต้องมี”
ห้องครัวถือเป็นห้องที่มีดีเทลเยอะเลยทีเดียว เพราะเวลาเราทำอาหารนั้นมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่ตอนเตรียม ปรุง และทำความสะอาด การตกแต่งห้องครัวให้เหมาะสม จึงควรจะแบ่งโซนต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เพื่อให้ใช้งานได้สบายสุด ๆ โดยส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่
- โซน A ใช้เก็บของ ตู้เย็น ตู้เก็บของ ชั้นวางของ สำหรับเก็บอาหารสด เครื่องปรุง ภาชนะ อุปกรณ์ทำครัว ควรจะจัดอยู่ในโซนนี้ทั้งหมด โดยออกแบบให้หยิบใช้ของต่าง ๆ ได้สะดวก
- โซน B ใช้ทำความสะอาด ซิงค์ล้างจาน เครื่องล้างจาน ที่วางจาน ที่เก็บจาน อุปกรณ์ทำความสะอาดทั้งหลาย ควรออกแบบให้อยู่ใกล้ หรือใช้ร่วมกับโซนเตรียมอาหาร จะได้ใช้งานได้สะดวก แถมยังประหยัดที่ด้วย
- โซน C ใช้เตรียมและปรุงอาหาร เตาแก๊ส เครื่องดูดควัน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมกันไว้ได้เลยที่จุดนี้ แต่อย่าลืมเว้นพื้นที่บนเคาน์เตอร์ไว้วางวัตถุดิบ และเว้นระยะเครื่องใช้ไฟฟ้าสัก 1-2 เมตร เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกและปลอดภัย
4. อุปกรณ์ของใช้ควรอยู่ในระยะห่างที่พอดี ไม่ใกล้ไป ไม่ไกลไป
ภาพ: ห้องครัวที่ใช้งานได้สะดวก
“ระยะห่างต้องพอดี ไม่ต้องเขย่ง ไม่ต้องเอื้อมเยอะ”
นอกจากการออกแบบและตกแต่งที่สวยงามแล้ว ควรจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในระยะที่หยิบใช้ได้สะดวก อีกทั้งควรจัดเรียงให้เป็นที่เป็นทาง เพื่อจะได้มีพื้นที่ใช้สอยในการประกอบอาหาร และไม่เกะกะทางเดิน หรือเป็นอุปสรรคในการทำอาหาร โดยระยะที่เหมาะสมของจุดต่าง ๆ จะมีดังนี้
- ตู้เก็บของ จะหยิบอุปกรณ์มาทำอาหาร ถ้าตู้สูงไปต้องเอื้อมจนสุดมือก็อาจจะเกิดอันตรายได้ ตู้เก็บของควรจะลึกประมาณ 45 ซม. อยู่สูงจากเคาน์เตอร์ประมาณ 40-50 ซม. หรือดูตามความสูงของผู้ใช้งาน ให้อยู่ในระยะที่เปิดหยิบของได้พอดี
- พื้นที่ทำอาหาร เตาแก็สมาตรฐานควรมีขนาด 75-100 ซม. พื้นที่ด้านข้างเตาควรมีที่เหลือประมาณ 45 ซม. พอทำอาหารเสร็จก็วางหม้อ กระทะพักไว้ข้าง ๆ ได้
- อ่างล้างจาน ข้าง ๆ อ่างล้างจานด้านใดด้านหนึ่งควรจะมีพื้นที่เหลือไว้ประมาณ 75 ซม. สำหรับวางอุปกรณ์เครื่องครัวที่ล้างเสร็จแล้ว
5. รูปแบบเคาน์เตอร์ เลือกให้เข้ากับขนาดห้องไว้ก่อน
“จะเลือกเคาน์เตอร์รูปตัว I ตัว L ตัว U หรือตัว G ก็ควรดูพื้นที่ในห้องก่อน”
ก่อนการออกแบบและการตกแต่งห้องครัว ควรคำนึงถึงพื้นที่ให้ดีเสียก่อน ว่ามีพื้นที่กี่ตารางเมตร จะได้เลือกรูปแบบเคาน์เตอร์และตู้เก็บของได้เหมาะสมยิ่งกว่าเดิม สำหรับแปลนครัวสำหรับห้องขนาดต่าง ๆ ที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้กัน
-
อยู่คอนโดคนเดียวห้องเล็ก มีพื้นที่ครัวแค่ 3-5 ตร.ม. ต้องครัวแบบแถวยาว
ภาพ: ครัวแบบแถวยาว
ครัวแบบแถวยาว (Single Wall Kitchen) หรือเคาน์เตอร์รูปตัว I ครัวแบบนี้เหมาะกับห้องขนาดเล็กประมาณ 3-5 ตร.ม. เป็นการติดตั้งเคาน์เตอร์และตู้เก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ชิดกับผนังด้านเดียว ช่วยประหยัดพื้นที่
-
อยู่คอนโดเป็นคู่ ห้องใหญ่หน่อย เลือกครัวแบบยาวตามทางเดิน
ภาพ: ครัวแบบยาวตามทางเดิน
ครัวแบบยาวตามทางเดิน (Galley Kitchen) ครัวแบบนี้ช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้คนที่มีพื้นที่จำกัด เพราะจะวางเคาน์เตอร์ไว้ติดผนังทั้งสองด้าน มีทางเดินตรงกลาง ควรออกแบบชั้นวางติดผนัง เพื่อให้เก็บของได้เยอะแบบไม่กินที่
-
อยู่ทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านหลังเล็ก อยากมีโต๊ะกินข้าวในครัว ต้องครัวแบบตัว L
ภาพ: ครัวรูปตัว L
ครัวแบบตัว L (L-Shaped Kitchen) เหมาะกับพื้นที่ขนาดกลางตั้งแต่ 6 ตร.ม. ขึ้นไป เป็นการวางเคาน์เตอร์ติดกับผนังสองด้านเป็นรูปตัว L ดีไซน์นี้ช่วยให้เหลือที่ไว้วางโต๊ะกินข้าวได้สบาย ๆ
-
บ้านเดี่ยวหลัง ที่เยอะ 9 ตร.ม. ขึ้นไป อยากได้ครัวสุดโมเดิร์น ต้องครัวแบบตัว U
ภาพ: ครัวรูปตัว U
ครัวแบบตัว U (U-Shaped Kitchen) เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ตั้งแต่ 9 ตร.ม. ขึ้นไป ติดตู้แขวนผนังเป็นรูปตัว U เช่นเดียวกับเคาน์เตอร์ ควรจะเว้นที่ไว้สำหรับหน้าต่างหรือช่องระบายอากาศด้วย
-
พื้นที่เหลือเฟือ 12 ตร.ม. ขึ้นไป อยากแต่งครัวให้เป็นจุดรวมตัว ต้องครัวรูปตัว G
ภาพ: ครัวรูปตัว G
ครัวรูปตัว G (G-Shaped Kitchen) หรือครัวที่มีเคาน์เตอร์ไอส์แลนด์ (Island Counter) รวมกับเคาน์เตอร์ตัว L หรือ U เหมาะกับห้องกว้างมาก ๆ ตั้งแต่ 12 ตร.ม. ขึ้นไป ถือเป็น Open Space สำหรับให้ทุกคนในครอบครัวได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกันได้เลย
6. ท็อปเคาน์เตอร์อยู่ในระยะที่พอดี และเลือกวัสดุดูแลรักษาง่าย
ภาพ: ห้องครัวสไตล์โมเดิร์น
“ระยะที่พอดีใช้แล้วไม่ปวดหลัง วัสดุผิวมันทำความสะอาดคราบหมดจด”
เคาน์เตอร์ครัวเป็นส่วนประกอบที่ควรจะเลือกออกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด เพราะถ้ายืนหั่นผักหรือล้างจานไปนาน ๆ อาจจะปวดหลังได้ รวมถึงวัสดุถ้าเลือกไม่เหมาะ ก็จะทำให้คราบฝังแน่นง่ายขึ้น กว่าจะขัดออกที่ลำบากยิ่งกว่าเดิม
- ระยะ ความสูงที่พอดีช่วยให้เตรียมอาหารง่ายขึ้น เคาน์เตอร์ระดับมาตรฐานจึงอยู่ที่ 85-110 ซม. อาจปรับเปลี่ยนให้สูงเข้ากับผู้ใช้งานหลักได้ ความลึกก็ไม่ควรจะเกิน 60 ซม. จะได้ไม่ต้องเอื้อมมือไปหยิบของให้ลำบาก
- วัสดุท็อป อยากทำความสะอาดได้ครัวสบายขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องคราบฝังแน่น วัสดุทำท็อปเคาน์เตอร์ที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้มักจะเป็นแบบที่มีผิวมันเงา จะเป็นหินแกรนิต หินเทียม หินสังเคราะห์ หรือกระเบื้อง ก็เลือกได้เลยตามสไตล์ที่ชอบ และงบที่มีอยู่
7. ออกแบบพื้นห้องครัวให้ลาดเอียง ปูด้วยกระเบื้องสุดแกร่ง
ภาพ: กระเบื้องปูพื้นห้องครัว
“พื้นลาดเอียงเล็กน้อย ล้างพื้นไม่กลัวน้ำท่วม”
การตกแต่งห้องครัวถ้าเป็นครัวไทยที่อยู่แยกออกจากตัวบ้าน หรือต่อเติมเพิ่ม ควรจะออกแบบพื้นให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าส่วนอื่นของบ้านประมาณ 5-10 ซม. และอย่าลืมให้พื้นลาดเอียงเล็กน้อย เวลาทำความสะอาดน้ำจะได้ไหลลงท่อได้สะดวก วัสดุปูพื้นควรเลือกกระเบื้องที่แข็งแรงทนทาน ทนต่อความร้อน ความชื้นได้ดี และทำความสะอาดได้ง่าย เช่น กระเบื้องพอร์ซเลน กระเบื้องแกรนิตโต้
8. ฝ้าเพดานห้องครัวที่เหมาะสมควรมีผิวเรียบ ไม่สะสมกลิ่น
ภาพ: เพดานครัวสีอ่อน
“เพดานสูง 2.5 ขึ้นไป ใช้วัสดุแผ่นเรียบ ทาสีอ่อน”
ถ้าทำอาหารที่มีควันเยอะ ระบายไปทางเครื่องดูดควัน หรือออกทางหน้าต่างไม่ทัน กลิ่นอาหารก็จะลอยขึ้นสู่ด้านบน ฝ้าเพดานที่ใช้ในการตกแต่งห้องครัว จึงควรสูงมากกว่า 2.5 เมตรขึ้นไป ใช้วัสดุที่มีพื้นผิวเรียบ เช่น ยิปซั่มบอร์ด ไฟเบอร์ซีเมนต์ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาด และควรเลือกทาสีอ่อน จะช่วยให้ภาพรวมในห้องครัวโล่ง โปร่ง มากยิ่งขึ้น
9. ผนังพื้นผิวเงา เช็ดคราบอาหารออกหมดจด
ภาพ: ผนังครัวผิวมันเงา
“วัสดุผิวเงา เห็นคราบอาหารง่าย เช็ดออกได้หมด”
ผนังครัวโดยเฉพาะตรงโซนที่อยู่ติดกับเตาแก๊สและพื้นที่เตรียมอาหาร มักจะมีคราบสกปรกกระเซ็นโดนตลอด ถ้าใช้วัสดุพื้นผิวหยาบ คงทำให้เกิดคราบฝังแน่น ทางที่ดีควรใช้เป็นวัสดุพื้นผิวมันเงาจะดีกว่า เช่น กระเบื้องผิวเงาสำหรับผนังภายใน กระจกลามิเนต หรือทาสีชนิดกึ่งเงาก็ได้เช่นกัน เวลาเห็นคราบจะได้เช็ดออกได้เลยทันที
10. ปลั๊กไฟมีทั่ว ๆ ไว้ก่อน จะได้พร้อมใช้งาน
ภาพ: ปลั๊กไฟในห้องครัว
“เต้าเสียบปลั๊กไฟมีอย่างน้อย 2 จุด จะได้ใช้งานได้ทั่วถึง”
เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราใช้ทำอาหารไม่ได้มีเครื่องเดียว ไหนจะเครื่องปั่น ไหนจะไมโครเวฟ และยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ อีกสารพัด การตกแต่งห้องครัวจึงควรนึกถึงเต้าเสียบปลั๊กไฟด้วย ควรเตรียมไว้อย่างน้อย 2 จุด โดยดูบริเวณที่ใช้งานบ่อยเป็นหลัก เวลาทำอาหารก็จะได้เสียบปลั๊กใช้งานได้เลย ไม่ต้องเดินไปที่อื่น
ทำความสะอาดห้องครัวเป็นประจำ ให้ห่างไกลจากคราบฝังแน่นด้วย จระเข้ อีซี่ น้ำยาทำความสะอาดบ้าน
ภาพ: จระเข้ อีซี่ น้ำยาทำความสะอาดบ้าน
นอกจากการตกแต่งห้องครัวอย่างเหมาะสม ได้ทั้งครัวสวยแถมทำอาหารได้เต็มที่ พอถึงเวลาใช้งานจริง สิ่งสำคัญที่ห้ามมองข้ามเลยก็คือการทำความสะอาดห้องครัวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคราบสกปรกฝังแน่น เพราะจะให้เกิดกลิ่นเหม็นกระจายไปทั่วบ้าน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคที่เป็นอันตรายแก่คนในบ้าน
ควรเลือกใช้จระเข้ อีซี่ น้ำยาทำความสะอาดบ้าน น้ำยาทำสำหรับทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่ใช้ได้กับกระเบื้องทุกชนิด เป็นผิวขัดมันก็ใช้ได้ โดยไม่ทำลายพื้นผิว มาพร้อมขวดสเปรย์ใช้งานง่าย เพียงฉีดน้ำยาทิ้งไว้ 1-2 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือจะใช้ผสมน้ำแล้วถูบ้านก็ได้เช่นกัน จะเคาน์เตอร์ โต๊ะ หรือพื้นห้องครัวก็ใช้งานได้สะดวก ปลอดภัยจากคราบฝังแน่น