วิธีการตรวจสอบความสะอาดของน้ำประปา
เคยตรวจสอบกันหรือเปล่า? ว่าน้ำประปาที่คุณดื่มในบ้านทุกวันนี้ แม้จะผ่านเครื่องกรองน้ำมาแล้ว ยังสะอาดอยู่หรือไม่? ซึ่งหากเราเป็นผู้บริโภคเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าน้ำสะอาดแค่ไหน ตราบใดที่ยังไม่ได้ส่งตรวจ การตัดสินว่าน้ำประปาจะสะอาดหรือไม่สะอาดตัวเราเองไม่สามารถประเมินได้ เพราะความสะอาดของน้ำมองด้วยตาเปล่าหรือดมกลิ่นอย่างเดียวก็ไม่เห็น วันนี้พี่จระเข้มีวิธีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ เพื่อมาบอกแก่เจ้าของบ้านได้อ่านไปพร้อม ๆ กันครับ
ตรวจความสะอาดน้ำประปาได้ที่ไหนบ้าง?
ปัจจุบันนี้การประปาส่วนภูมิภาคมีบริการตรวจสอบน้ำประปา แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่ไปใช้บริการมักจะเป็นร้านอาหาร หรือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้หลักฐานนี้ไปแสดงความสะอาดเพื่อขอรองรับมาตรฐานต่าง ๆ โดยจะต้องเก็บน้ำไปส่งตรวจทางกายภาพ และเคมี ซึ่งไม่ได้เอาแค่น้ำไปตรวจอย่างเดียว บางทีต้องตัดท่อบริเวณที่ส่งน้ำเข้าอาคารไปตรวจยัง กปภ. อีกด้วย โดยมีวิธีการส่งตรวจดังนี้
1) เข้าไปที่เว็บไซต์ www.pwa.co.th
2) เลือกไปยังเมนู กปภ.
3) เลือกค่าบริการวิเคราะห์น้ำ
โดยห้องปฏิบัติการตรวจสอบความสะอาดของน้ำ (ห้องแล็บ) ของ กปภ. ได้รับมาตฐาน ISO/IEC 17025 : 2005 และ ISO/IEC 17025 : 2017 โดยมีค่าบริการตรวจสอบ ซึ่งติดต่อได้ในเวลา 8.30 – 12.00 น. และ 13.00 – 15.00 น. และใช้เวลาการตรวจที่มากกว่า 7 วัน ดังนี้
โดยหากคุณอยู่ไกล กปภ. มาก ๆ ก็สามารถส่งตรวจสอบทางไปรษณีย์ได้ และผลการทดสอบก็จะส่งกลับทางที่อยู่ไปรษณีย์หรืออีเมลที่ได้แจ้งไว้ หรือไปรับผลการทดสอบด้วยตัวเองที่ กปภ. สาขาที่ยื่นตรวจ โดยดูอัตราค่าบริการได้ที่ www.pwa.co.th
ความสะอาดน้ำประปาวัดจากอะไร?
ในการส่งตรวจกับ กปภ. นั้นจะมีให้ตรวจ 2 แบบ คือ 1) ตรวจตัวอย่างน้ำ (แบ่งรายละเอียดปลีกย่อยได้ 61 รายการ) และ 2) ตรวจตัวอย่างสารเคมี สารกรอง และท่อ (แบ่งรายละเอียดปลีกย่อยได้ 11 รายการ) ซึ่งแต่ละรายการคิดค่าบริการแยกเริ่มต้น 100 บาท แต่ก็มีบริการเหมาตรวจเพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ที่ต้องการทดสอบ ดังนี้
1) ตรวจสอบด้านกายภาพ 5 รายการ
1.1) สี
1.2) ความขุ่น
1.3) การนำไฟฟ้า
1.4) ความเป็นกรดด่าง
1.5) ความเค็ม
2) ตรวจสอบด้านกายภาพ และจุลชีววิทยาเบื้องต้น 6 รายการ
1.1) สี
1.2) ความขุ่น
1.3) การนำไฟฟ้า
1.4) ความเป็นกรดด่าง
1.5) ของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมด
1.6) อีโคไล
3) ตรวจสอบด้านเคมี 16 รายการ
1.1) ของแข็งที่ละลายได้
1.2) ความกระด้างทั้งหมด
1.3) ความกระด้างชั่วคราว
1.4) ความกระด้างถาวร
1.5) ความเป็นด่าง
1.6) แคลเซียม
1.7) แมกนีเซียม
1.8) คลอไรด์
1.9) เหล็ก
1.10) แมงกานีส
1.11) ไนเตรทในรูปแบบไนเตรท
1.12) ไนเตรทในรูปแบบไนไตรท์
1.13) ทองแดง
1.14) สังกะสี
1.15) ซัลเฟต
1.16) ฟลูออไรด์
4) ตรวจสอบด้านจุลชีววิทยาเบื้องต้น 3 รายการ
1.1) เฮเทอโรโทรฟิกแบคทีเรีย
1.2) โคลิฟอร์มแบคทีเรีย
1.3) อีโคไล
5) ตรวจสอบด้านจุลชีววิทยา 6 รายการ
1.1) เฮเทอโรโทรฟิกแบคทีเรีย
1.2) โคลิฟอร์มแบคทีเรีย
1.3) อีโคไล
1.4) ซัลโมเนลลา
1.5) สแตปปิลโลค็อกคัส ออเรียส
1.6) คลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์
6) ตรวจสอบด้านโลหะหนัก 7 รายการ
1.1) ปรอท
1.2) ตะกั่ว
1.3) สารหนู
1.4) ซิลีเนียม
1.5) โครเมียม
1.6) แคดเมียม
1.7) แบเรียม
โดยการส่งตรวจตามกลุ่มจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของคุณได้ เพราะบางท่านต้องการตรวจเฉพาะกลิ่นที่สงสัยเป็นพิเศษ อย่างกลิ่นเน่าซึ่งอาจจะมาจากแบคทีเรีย หรือกลิ่นเค็ม ที่อาจมาจากลักษณะทางกายภาพของน้ำที่ซึมเข้าท่อจากพื้นที่บริเวณนั้น แต่หากตรวจทั้งหมดจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 7,600 บาท (อัพเดทข้อมูล สิงหาคม 2562)
สรุปแล้วน้ำประปาดื่มได้หรือเปล่า?
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า กว่าน้ำประปาจะมาถึงหัวก็อกน้ำบ้านเรานั้น มันต้องผ่านท่อ ทั้งจากของประปาเอง และท่อภายในบ้านของเรา ซึ่งการเปิดก็อกน้ำเพื่อดื่มน้ำประปาโดยตรงก็ยังมีความเสี่ยงจากสารอื่น ๆ ที่อาจเจือปนอยู่ในท่อต่าง ๆ ซึ่งเราเองควรตรวจสอบความสะอาดของท่อน้ำ หากน้ำประปามีกลิ่นแปลกปลอม หรือท่อเก่าชำรุด ควรรีบเปลี่ยนให้เร็วที่สุด เพื่อสุขภาพของคนในบ้านเอง
น้ำประปาที่ออกมาจากการดูแลของการประปายิ่งใกล้สถานีสูบน้ำ ยิ่งสะอาดตามมาตรฐานของการประปา แต่หากคุณต้องการใช้เป็นน้ำดื่มอุปโภค บริโภค ควรผ่านเครื่องกรองน้ำ และต้มให้สุก ทิ้งค้างคืนไว้จะดีที่สุดครับ
แต่หากมีปัญหาเกี่ยวกับอาการร้าว รั่ว ซึม ของน้ำหยดเข้ามาในบ้าน สามารถปรึกษาพี่จระเข้ได้ครับ โทร 02 710 1112 มีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ดูแลอยู่ครับ
อ้างอิง :
1) จากเรื่อง “กปน. ใส่ใจคุณภาพน้ำ นำรถสำรวจท่อตรวจสอบความสะอาดท่อประปา” จากเว็บไซต์ https://www.mwa.co.th/ewt_news.php?nid=18712&filename=index
2) จากเรื่อง “ระบบประปา” สืบค้นจากเว็บไซต์ http://www.coe.or.th/coe-2/Download/Articles/ENV/CH1.pdf
บทความที่เกี่ยวข้อง
ฝนสาดเข้าห้องนอน! แก้ปัญหาอย่างไรดี ?
ฝนตกหนัก เสี่ยงน้ำท่วมบ้าน! มีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ?
รวม 7 ผลิตภัณฑ์ "จระเข้" ที่เหมาะกับหน้าฝน