หลังคาบ้าน ถือเป็นหัวใจสำคัญของบ้านที่มีส่วนช่วยให้บ้านร่มเย็น และช่วยปกป้องจากแดด ลม ฝน รวมถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความเสียหายที่ต้องซ่อมแซมในภายหลัง ควรเลือกช่างที่มีความรู้ความชำนาญในการสร้างหรือมุงหลังคา ที่สำคัญ คือ เลือกทรงหลังคาที่เหมาะกับสไตล์การออกแบบบ้าน ทั้งนี้หลังคามีหลายประเภทและมีรูปทรงที่แตกต่างกันออกไป แล้วควรจะเลือกหลังคาบ้านแบบไหนดี จระเข้มีความรู้ดี ๆ มาฝากกัน!
9 แบบหลังคาบ้าน เลือกแบบไหนดีให้เหมาะกับบ้าน?
1. หลังคาทรงจั่ว
ภาพ: หลังคาทรงจั่ว
หลังคาบ้านทรงจั่ว (Gable Roof) เป็นประเภทหลังคาที่ได้รับความนิยม โดยมาพร้อมรูปทรงมาตรฐานที่เหมาะกับแบบบ้านทั่วไป ใช้ได้กับทุกภูมิภาค มีลักษณะเป็นหน้าจั่วสามเหลี่ยมทอดยาวลงมาตลอดตัวหลังคา โดยหลังคาทั้งสองด้านจะลาดเอียงทั้งสองด้านชนกันที่ปลายสุดด้านบนหลังคา เหมาะกับบ้านสไตล์โมเดิร์นหรือบ้านสไตล์ร่วมสมัยทั่วไป
ข้อดี: ช่วยลดปัญหาการรั่วซึมได้ดี เนื่องจากมีมุมองศาที่ลาดเอียงพิเศษ แม้มีฝนตกแต่น้ำก็ไหลลงด้านล่างได้รวดเร็ว อีกทั้งหากออกแบบให้มีช่องระบายอากาศเสริม ก็จะช่วยให้ระบายความร้อนได้ดียิ่งขึ้น
ข้อเสีย: หากฝนตกในทิศทางลมที่หันเข้าสู่จั่วบ้าน อาจทำให้น้ำฝนกระเด็นเข้ามาภายในบริเวณบ้าน เพราะฉะนั้นควรติดกันสาดเพิ่มเติม
2. หลังคาทรงปั้นหยา
ภาพ: หลังคาทรงปั้นหยา
หลังคาทรงปั้นหยา (Hip Roof) เป็นอีกหนึ่งประเภทหลังคาบ้านที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีลักษณะครอบคลุมทุกทิศทาง มีมุมลาดเอียงน้อยกว่าหลังคาทรงจั่ว แต่มีลักษณะเด่นที่จุดยอดของแต่ละด้านเป็นทรงเหลี่ยมหันพิงเข้าหากัน ซึ่งเข้าได้เกือบทุกสไตล์ของการออกแบบบ้าน โดยนำมาปรับใช้ได้กับบ้านหลายแบบ เช่น บ้านสไตล์โมเดิร์น บ้านทรงไทยประยุกต์
ข้อดี: หลังคาแข็งแรง มั่นคง เพราะมีโครงสร้างบรรจบกันที่ด้านบน กันแดดกันฝนได้ดี เนื่องจากมีมุมลาดเอียงครอบคลุมตัวบ้านได้ทุกทิศทาง
ข้อเสีย: มีจุดเชื่อมต่อมากกว่าหลังคาแบบอื่น จำเป็นต้องใช้บริการช่างที่มีฝีมือ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหารั่วซึมได้ง่าย
3. หลังคาทรงมะนิลา
ภาพ: หลังคาทรงมะนิลา
หลังคาทรงมะนิลา (Manila Roof หรือ Dutch Gable Roof) เป็นประเภทรูปแบบหลังคาที่ผสมผสานระหว่างหลังคาปั้นหยาและหน้าจั่วเข้าด้วยกัน เป็นหลังคาบ้านที่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนและฝนตกชุกอย่างประเทศไทย นิยมติดตั้งให้มีชายคายื่นออกมาเพื่อให้กันแดดฝนได้ทุกทิศทาง เหมาะกับบ้านที่ตกแต่งสไตล์แบบร่วมสมัย บ้านสไตล์โมเดิร์น บ้านทรงไทยประยุกต์ ไปจนถึงบ้านสไตล์โคโลเนียล
ข้อดี: แข็งแรง ทนทาน รับแรงลมได้ดี ช่วยป้องกันแสงแดดและสายฝนจากภายนอกได้ดี หากติดตั้งระแนงระบายอากาศร่วมด้วย จะช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้าน
ข้อเสีย: เป็นหลังคาที่เกิดการรั่วซึมได้ง่าย เนื่องจากมีรูปทรงที่ซับซ้อน
4. หลังคาทรงแบน
ภาพ: บ้านสไตล์โมเดิร์นหลังคาทรงแบน
หลังคาทรงแบน (Flat Roof) หรือหลังคาเปลือย เป็นหลังคาบ้านที่มาพร้อมรูปแบบที่มีความโมเดิร์นและทันสมัย มีลักษณะเป็นพื้นที่แบนราบอยู่ในระนาบเดียวกัน นิยมใช้กับบ้านที่เป็นทาวน์โฮม หรือทาวน์เฮาส์ หรือบ้านสไตล์โมเดิร์นที่เน้นการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ รวมไปถึงบ้านสไตล์ทรอปิคอลโมเดิร์น
ข้อดี: ดีไซน์โดดเด่น ทันสมัย ใช้บริเวณพื้นหลังคาด้านบนเป็นดาดฟ้า หรือมุมพักผ่อนแบบส่วนตัวได้ เพิ่มพื้นที่ใช้สอยในตัวบ้านให้มากยิ่งขึ้น
ข้อเสีย: มีโอกาสเกิดการรั่วซึม หากไม่ทำกันซึมให้ได้มาตรฐานหรือปรับพื้นให้ลาดเอียงเพื่อระบายน้ำ
5. หลังคาทรงเพิงหมาแหงน
ภาพ: หลังคาทรงเพิงหมาแหงน
หลังคาทรงเพิงหมาแหงน (Lean-to Roof) เป็นหลังคาที่ปรับให้เรียบเอียงไปเพียงด้านเดียว มักมีชายคายื่นออกมาช่วยบังแดดบังฝน นิยมใช้กับบ้านสไตล์โมเดิร์นที่ออกแบบเป็นทรงเหลี่ยม ช่วยให้ภาพรวมของบ้านดูเท่แต่เรียบง่าย โดยหลังคาบ้านชนิดนี้นำไปปรับใช้กับบ้านสไตล์อื่นอย่างบ้านสไตล์เนเชอรัลได้อีกด้วย โดยควรออกแบบให้สัมพันธ์กัน จะดูสวยงามลงตัว
ข้อดี: ช่วยให้บ้านสวยงาม มีเอกลักษณ์ โครงสร้างหลังคาไม่ซับซ้อน ติดตั้งได้รวดเร็ว ช่วยประหยัดค่าแรงและค่าวัสดุก่อสร้าง
ข้อเสีย: ไม่สามารถป้องกันความร้อนจากภายนอกบ้านได้ดีเท่าที่ควร และหากไม่ออกแบบความลาดเอียงให้ดีจะเสี่ยงต่อการรั่วซึมได้
6. หลังคาทรงปีกผีเสื้อ
ภาพ: หลังคาทรงปีกผีเสื้อ
หลังคาทรงปีกผีเสื้อ (Butterfly Roof) เป็นการนำหลังคาทรงเพิงหมาแหงนมาประกบกัน มีลักษณะแหงนออกทั้ง 2 ด้าน ด้านนอกเป็นมุมสูง ส่วนตรงกลางจะเป็นมุมต่ำ เหมือนกับผีเสื้อที่กำลังกระพือปีกบิน มีรูปทรงที่ดูดีมีความทันสมัย เข้ากับการออกแบบบ้านสไตล์โมเดิร์น หรือสไตล์เนเชอรัล
ข้อดี: ดีไซน์แปลกตา ช่วยให้บ้านดูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น รองรับน้ำฝนได้ดีกว่าหลังคาประเภทอื่น
ข้อเสีย: ต้องติดตั้งรางระบายน้ำเพิ่มเติม เพราะน้ำฝนจะมารวมกันตรงกลาง หากไม่ทำระบบระบายน้ำให้ดี จะมีโอกาสรั่วซึมได้
7. หลังคาทรงโค้งกลม
ภาพ: หลังคาทรงโค้งกลม
หลังคาทรงโค้งกลม (Curved Roof) เป็นหลังคาที่มีลักษณะโค้งมน ช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวบ้าน โดยหลังคาประเภทนี้นิยมใช้โครงสร้างเปลือกบาง และใช้วัสดุมุงหลังคาประเภทเมทัลชีท อลูมิเนียมขึ้นรูป โลหะรีดลอนที่รองรับการโค้งงอ หรือเลือกใช้แผ่นทองแดงที่ดัดโค้งได้ นิยมติดตั้งให้มีชายคาทั้งแบบสั้นและแบบยาว เหมาะกับบ้านหลากสไตล์ ขึ้นอยู่กับการออกแบบที่ต้องการ
ข้อดี: เลือกใช้วัสดุมุงหลังคาบ้านได้หลายแบบตามความต้องการ โอกาสรั่วซึมน้อยกว่าหลังคาประเภทอื่น
ข้อเสีย: เป็นหลังคาที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะต้องคำนวณออกแบบโครงสร้างให้มั่นคง แข็งแรง
8. หลังคาทรงหลายเหลี่ยม
ภาพ: หลังคาทรงหกเหลี่ยม
เกิดจากผืนหลังคาหลาย ๆ ด้านลาดเอียงขึ้นไปเจอกันด้านบนสุด มีทั้งแบบหกเหลี่ยม (Hexagonal Roof) และแบบแปดเหลี่ยม (Octagonal Roof) โดยหลังคาประเภทนี้เข้ากันได้ดีกับบ้านสไตล์คลาสสิก นิยมใช้กับพื้นที่เฉพาะส่วนภายในบ้าน เช่น ห้องโถง ศาลา หรือห้องอาหาร
ข้อดี: กันแดดกันฝนได้จากทุกด้าน รูปแบบเฉพาะไม่เหมือนใคร ช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้กับบ้านได้เป็นอย่างดี
ข้อเสีย: ต้องออกแบบโครงสร้างให้ดี เพื่อให้หลังคารับน้ำหนักได้อย่างปลอดภัย
9. หลังคาทรงโดม
ภาพ: หลังคาทรงโดม
หลังคาทรงโดม (Dome Roof) เป็นหลังคาที่มีลักษณะโค้งมน อ่อนช้อย สามารถเลือกใช้วัสดุมุงหลังคาบ้านได้หลายประเภท เช่น กระเบื้องโมเสค แผ่นกระเบื้อง โดยเลือกขึ้นรูปได้ด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น คอนกรีตเสริมใยแก้ว เหมาะสำหรับบ้านสไตล์คลาสสิค หรือบ้านสไตล์ยุโรปที่ต้องการความหรูหรา น่าสนใจ
ข้อดี: ช่วยเพิ่มความหรูหรา โออ่า ให้กับตัวบ้าน เพิ่มความน่าสนใจให้กับภาพรวมของบ้านได้เป็นอย่างดี
ข้อเสีย: มีโอกาสรั่วซึมตามรอยต่อโครงสร้างได้ง่าย ควรทำกันซึมให้ได้มาตรฐาน
นอกจากการเลือกรูปแบบหลังคาที่เหมาะสมแล้ว โครงสร้างหลังคาก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้นๆ โดยต้องมีความแข็งแรงทนทาน ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่ต้องเสียเงินซ่อมแซมภายหลัง ดีไม่ดีหากโครงสร้างไม่ได้มาตรฐาน ก็มีความเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุแก่คนในบ้านเช่นกัน โดยโครงสร้างหลังคา มี 2 แบบ ได้แก่
- โครงสร้างไม้
เป็นประเภทโครงสร้างหลังคาที่ติดตั้งง่าย มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพียงนำมายึดติดกับเสาและคาน แต่มีข้อเสียตรงที่โครงสร้างบิดงอง่าย หาไม้ที่มีคุณภาพได้ค่อนข้างยาก และมีปัญหาเกี่ยวกับปลวก ที่สำคัญคือราคาแพง
- โครงสร้างเหล็ก
มีสำหรับบ้านที่ก่อสร้างด้วยปูน มีรูปแบบให้เลือกเยอะ และมีราคาถูกกว่าโครงสร้างแบบไม้ แต่ต้องเลือกช่างที่มีความชำนาญในการติดตั้ง เพราะหากทำไม่ดี อาจทำให้เกิดการรั่วซึมได้
เลือกกระเบื้องมุงหลังคาแบบไหนดี?
กระเบื้องหลังคาบ้านเป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญ นอกจากควรเลือกให้เหมาะกับสไตล์การออกแบบบ้านแล้ว เรื่องความแข็งแรงทนทานก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน โดยวัสดุมุงหลังคาบ้านมีหลายแบบ ดังนี้
1. กระเบื้องคอนกรีต
ภาพ: หลังคากระเบื้องคอนกรีต
กระเบื้องคอนกรีตหรือกระเบื้องซีเมนต์ เหมาะสำหรับบ้านสไตล์คอนเทมโพรารี บ้านทรงไทยประยุกต์ และบ้านสไตล์โมเดิร์น หลังคาทรงปั้นหยา หลังคาทรงเพิงหมาแหงน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
- กระเบื้องสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีขนาดเล็ก เหมาะกับการมุงหลังคาที่มีความลาดเอียงตั้งแต่ 40-45 องศา
- กระเบื้องโมเนียร์ เป็นกระเบื้องแบบลอน สามารถมุ่งหลังคาที่มีความชันตั้งแต่ 17 องศา
ทั้งนี้หลังคากระเบื้องคอนกรีตหรือกระเบื้องซีเมนต์ เป็นวัสดุมุงหลังคาบ้านที่มีน้ำหนักมาก ดังนั้นโครงสร้างหลังคาต้องมีความแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี
2. กระเบื้องดินเผา
ภาพ: หลังคากระเบื้องดินเผา
กระเบื้องดินเผา เป็นกระเบื้องที่สวยงามเป็นธรรมชาติ มักเคลือบผิวแบบกึ่งด้านทำให้ได้สีสันดินเผาตามธรรมชาติ ลดการสะสมฝุ่นได้ดีเพราะน้ำฝนจะช่วยชะล้างความสกปรกได้ดี และเนื่องจากผ่านการเผาด้วยอุณหภูมิสูง ทำให้แข็งแรงทนทานเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบากว่ากระเบื้องคอนกรีต โดยกระเบื้องชนิดนี้มักมีลักษณะเป็นลอยโค้งสูง ช่วยให้ระบายความร้อนได้ดี เหมาะกับบ้านสไตล์ตะวันตกที่มีกลิ่นอายแบบเมริเตอร์เรเนียน แต่มีข้อเสีย คือ อาจเกิดการรั่วซึมได้ง่าย
3. กระเบื้องหลังคาเซรามิก
ภาพ: หลังคากระเบื้องเซรามิก
กระเบื้องหลังคาเซรามิก เป็นกระเบื้องหลังคาที่นำดินชนิดพิเศษมาอัดขึ้นรูป เคลือบสี และเผาด้วยอุณหภูมิสูง โดยเนื้อกระเบื้องส่วนใหญ่มักมีสีอ่อน มีให้เลือกทั้งแบบผิวมันเงาและกึ่งเงา เหมาะสำหรับบ้านสไตล์คลาสสิกและสไตล์คอนเทมโพรารี รวมไปถึงบ้านสไตล์คลาสสิก โดยควรเลือกรูปแบบแผ่นให้เหมาะกับตัวบ้าน เช่น แผ่นลอนมาตรฐาน ลอนเว้า และแบบแผ่นเรียบ คุณสมบัติเด่นของกระเบื้องหลังคาเซรามิก คือ ระบายความร้อนได้ดี และมีน้ำหนักเบาทำให้โครงสร้างรับน้ำหนักน้อยลง ลดค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างได้
4. กระเบื้องซีเมนต์ใยหิน
ภาพ: หลังคากระเบื้องซีเมนต์ใยหิน
กระเบื้องซีเมนต์ใยหินหรือกระเบื้องเอสเบสทอสซีเมนต์ ผลิตจากวัสดุ 3 ชนิด ได้แก่ ใยหินสำลี ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และน้ำ แล้วเทลงในแบบหล่อ จากนั้นนำลูกกลิ้งมาบดขึ้นรูปให้เป็นลอนตามต้องการ มักมาในลักษณะกระเบื้องลอนคู่ มีให้เลือกทั้งลอนเล็กและลอนใหญ่ มีคุณสมบัติเป็นฉนวนที่ป้องกันความร้อนได้ดี รวมถึงกันไฟได้ เหมาะสำหรับมุงหลังคาตั้งแต่ 10 องศา ที่สำคัญราคาไม่แพง
5. กระเบื้องหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์
ภาพ: หลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์
กระเบื้องหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ เป็นวัสดุมุงหลังคาที่พัฒนาจากกระเบื้องซีเมนต์ใยหิน ผลิตจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ผสมกับเส้นใยสังเคราะห์ แผ่นกระเบื้องค่อนข้างบางและมีน้ำหนักเบา แต่ยืดหยุ่นตัวได้ดี ช่วยประหยัดค่าโครงสร้างหลังคาได้ เหมาะกับบ้านสไตล์โมเดิร์น บ้านสไตล์โคโลเนียล บ้านสไตล์เนเชอรัล และบ้านทรงไทยประยุกต์ กระเบื้องมุงหลังคาบ้านชนิดนี้มีจุดเด่นที่ระบายความร้อนได้ดี สะสมความร้อนน้อย และไมก่อให้เกิดสารพิษ
6. เมทัลชีท
ภาพ: หลังคาเมทัลชีท
เมทัลชีท เป็นวัสดุมุงหลังคาที่พัฒนามาจากหลังคาสังกะสี แต่แข็งแรงคงทนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผลิตจากโลหะเคลือบ แล้วรีดให้เป็นแผ่น และใช้วิธีอบผ่านความร้อนเพื่อให้สีสันสดใสสวยงามอยู่เสมอ ลดการกัดกร่อน ช่วยป้องกันสนิม และยังสะท้อนออกจากตัวบ้านได้ดีอีกด้วย โดยปกตินิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพราะช่วยประหยัดค่าวัสดุ จึงนำมาใช้กับบ้านสไตล์โมเดิร์นที่ต้องการประหยัดงบประมาณการสร้างได้อีกด้วย
แต่ไม่ว่าจะเลือกกระเบื้องมุงหลังคาบ้านแบบไหนดี ก็ควรเลือกให้เหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทยที่ร้อนระอุ การสร้างบ้านที่เน้นความโปร่งโล่ง มีลมพัดเข้าออก อากาศถ่ายเทได้สะดวก จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ อีกทั้งการติดตั้งฉนวนกันความร้อน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่บรรเทาความร้อนภายในบ้านได้ดีเช่นกัน ซึ่งมีหลายประเภทให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม ดังนี้
- แผ่นสะท้อนกันความร้อน มีลักษณะบางและมันวาว สามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้ดี
- แผ่นยิปซั่มบอร์ด มีลักษณะแผ่นบาง ๆ สามารถป้องกันการนำความร้อนเข้ามาในบ้านได้ดี
- ใยแก้ว มีลักษณะแผ่นฟูโปร่งด้วยเส้นใยสีเหลือง หรือสีขาว มีน้ำหนักเบา ป้องกันความร้อนได้ดี และติดตั้งง่าย
- สารโพลียูรีเทนโฟม เป็นนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันความร้อน กันเสียง และกันสนิมได้ดี
ปกป้องหลังคาบ้านจากความเสียหายด้วยผลิตภัณฑ์จระเข้
ภาพ: จระเข้ รูฟ ชิลด์
คลิกสั่งซื้อ: จระเข้ รูฟ ชิลด์ อะคริลิกกันซึม
ภาพ: จระเข้ เทปซีล
คลิกสั่งซื้อ: จระเข้ เทปซีล เทปบิวทิลกันน้ำผิวฟลอยด์
นอกจากการมุงหลังคาบ้านด้วยวัสดุที่มีคุณภาพ และเลือกรูปแบบที่เหมาะกับสไตล์การออกแบบบ้านแล้ว ควรปกป้องหลังคาให้ปลอดภัยจากความเสียหายต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหารั่วซึมที่ทำให้เสียหายไปถึงโครงสร้าง ทั้งนี้ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพจากจระเข้ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันบริเวณรอยต่อของวัสดุมุงหลังคาด้วยจระเข้ เทปซีล เทปบิวทิลกันน้ำผิวฟลอยด์ และทาทับด้วยจระเข้ รูฟ ชิลด์ อะคริลิกกันซึมคุณภาพสูง ยืดหยุ่นได้ดี ใช้งานง่ายเพียงเปิดฝาแล้วทาได้ทันที เมื่อแห้งตัวจะมีลักษณะเป็นแผ่นยางบาง ๆ จึงป้องกันน้ำซึมผ่านได้ดี และยังสะท้อนรังสีความร้อนได้อีกด้วย จะช่วยให้บ้านของคุณทนแดด ทนฝน สวยงามได้อย่างยาวนาน ดูผลิตภัณฑ์ซ่อม-สร้างจระเข้